สนั่น อังอุบลกุล ตอบ 5 คำถาม CPTPP

เอฟเฟคการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เชื่อมโยงถึงไทยในฐานะประเทศคู่ค้า ผู้ผลิตในห่วงโซ่ซัพพลายเชนเดียวกัน
 
ล่าสุดไม่ใช่เพียงจีน สหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้วแต่ยังมีน้องใหม่อย่างไต้หวันอีกด้วย
 
แล้ว”ไทย”จะเสียเปรียบ หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้คำตอบจากมุมมองของ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวบรวมความเห็นสมาชิกและมองว่า
 
@กรณีหลังจีนตัดสินใจร่วม CPTPP จะมีผลอย่างไรถ้าไทยตกขบวน?
 
การที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เป็นการเพิ่มขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบ และฐานการผลิตที่สำคัญ
 
ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ การที่จีนเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าการค้าในกลุ่มเพิ่มขึ้น
 
สำหรับประเทศไทยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของจีน เป็นการเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ไทยจะต้องประเมินถึงการเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค (regional supply chain) หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกห่วงโซ่ ก็เป็นประเด็นที่ไทยจะต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากวงห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมจีนเข้าไป
 
ทั้งนี้ ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจีนจะได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมจากทั้ง 11 ประเทศสมาชิก CPTPP หรือไม่
 
@ถ้าจีนสามารถเจรจเข้าร่วมความตกลงได้ ถ้าไทยยังช้าและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ จะมีผลกระทบกับไทยในแง่การค้า-ลงทุนของไทยอย่างไรบ้าง?
 
เบื้องต้น ยังไม่ได้ส่งผลทันที จีนยังแช่อยู่ในขั้นตอนสมัครเข้าร่วมซึ่งยังต้องรอ 11 ประเทศ ตอบตกลงและยังต้องเจรจารายประเทศยังมีอีก หลายขั้นตอน
 
ซึ่งจีนเองก็ยังสามารถถอนตัวออกมาได้ทุกขั้นตอน ยังต้องใช้เวลาหลายปี แต่จะเป็นโอกาสของจีนในการเข้าไปเจรจาต่อรอง ก่อนที่จะมีอังกฤษหรือประเทศอื่นเข้าไปเพิ่ม
 
@มองเหตุผลที่จีนของเข้าร่วมครั้งนี้เป้าหมายใหญ่เพื่ออะไรทั้งที่CPTPP หรือ TPP เดิม ริเริ่มโดยสหรัฐฯเพื่อคานอำนาจจีน?
 
จีนคงเห็นประโยชน์ของเรื่อง Value chain ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายการค้าการลงทุน ใช้วัตถุดิบจากประเทศอื่นหรือของตนเองเพิ่มมูลค่า และยังมีตลาดที่แน่นอน ลดปัญหาการกีดกันการค้าในรูปแบบการเมืองระหว่างประเทศ
 
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสการปรับกฎหมายการทำธุรกิจในประเทศ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับผู้ประกอบการในประเทศต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ตามกติกาใหม่ของโลก
 
@ไทยจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเข้าร่วม CPTPP?
 
เชื่อว่ายังมีอีกหลายประเทศที่กำลังสนใจและจะเข้าไปในกรอบนี้ โอกาสของการเข้าไปในกรอบนี้ ไม่ใช่แค่มุมที่เราอยากส่งออกเพิ่ม แต่เป็นการป้องกันตัวเองในอนาคต ที่จะต้องมีกรอบการค้าที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ประโยชน์ ตามชนิดสินค้าหรือตามข้อตกลงของประเทศที่อยู่ในกรอบ รวมถึงการใช้วัตถุดิบของประเทศที่อยู่ในกรอบ นำมาผลิตสินค้าและส่งกลับไปในประเทศกลุ่มเดียวกัน
 
โดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่มีภาคีการค้ามากจะได้เปรียบประเทศที่มีภาคีน้อย จะเห็นได้ชัดในกรณีผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบเยอะ แล้วต้องนำเข้าวัตถุดิบจากหลายประเทศ ก็ช่วยให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลงจากภาษีนำเข้า จึงผลิตสินค้าได้ถูกลง
 
ผู้บริโภคในประเทศก็ได้ประโยชน์ เมื่อส่งออก จะได้ประโยชน์ด้านภาษีของประเทศปลายทางจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า จึงช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันด้วย ประเทศจะได้รายได้เพิ่มจากการส่งออก นอกจากนี้เป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น เนื่องจากมีคู่ค้าให้เลือกทำตลาดได้หลายระดับราคา และส่งเสริมผู้เล่นในประเทศมีโอกาสไต่ระดับตลาดมาตรฐานสูงขึ้นเมื่อแข็งแกร่งขึ้น
 
@ไทยจะเสียเปรียบประเทศสมาชิก CPTPP มากน้อยแค่ไหนในแง่ำการค้า การลงทุนรวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆที่ประเทศสมาชิกจะให้แก่กัน รวมถึงการทำการค้ากับจีน?
 
ไม่มีกรอบการค้าใดในโลกที่จะมีแต่ได้กับได้ มักจะมีด้านที่เราจะต้องยอมเสียเปรียบอยู่ด้วยซึ่งต้องดูให้ถี่ถ้วน
 
“การเข้าไปร่วมเจรจาเป็น โอกาสการต่อรองให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด และหากต่อรองไม่ได้ในเรื่องสำคัญเราก็สามารถถอนออกมาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศสมาชิก เพราะการเข้าร่วมเจรจาคือการเข้าไปต่อรองให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วค่อยตัดสินใจ”
 
ประเทศที่ได้เข้าไปก่อนที่มีสินค้าเดียวกันกับเรา จะได้เปรียบเรื่อง ราคา เรื่องการแข่งขัน จากภาษีนำเข้า จาก rules of origin ที่ใช้วัตถุดิบ ในกลุ่มเดียวกันครับและประเทศที่เข้าช้า จะต้องผ่านการเจรจา กับประเทศที่เข้าก่อนหลายด่านมากขึ้น
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 กันยายน 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)