จับตาประชุม ศบศ. 29 ก.ย. เอกชนลุ้น ‘บิ๊กตู่’ เคาะแผนช่วยเอสเอ็มอี-ฟื้นภาคท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 กันยายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ครั้งที่ 4/2564 ซึ่งในวาระนอกจากติดตามเรื่องคงค้างครั้งก่อน ประเมินสถานการณ์ล่าสุดแล้ว จะมีการหารือถึงแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ การท่องเที่ยว ที่กำหนดจะเปิดประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีความพร้อมและแนวทางอย่างไร
 
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่เป็นการประขุมรัฐกับภาคเอกชน ถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 กันยายนนี้ ว่า ภาคเอกชนยังติดตามเรื่อง มาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting) และการเข้าถึงชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19(ATK) ทั้งจำนวนและราคาที่เหมาะสมไม่เกิน 100 บาท เพื่อไม่เป็นภาระผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี 
 
รวมถึงผลักดันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ให้กับธุรกิจที่ประสบปัญหา โดยเสนอให้ธนาคารต่างๆได้ทบทวนการปล่อยกู้ใหม่ให้กับธุรกิจที่เริ่มเปิดบริการได้อีกครั้ง และติดตามแนวทางดูแลเรื่องน้ำท่วม แม้ตอนนี้ยังไม่ได้สร้างผลกระทบภาคผลิตเรื่องขนส่งและขาดชิ้นส่วนประกอบ แต่หากขยายวงกว้างและยาวนานก็อาจกระทบได้ในระยะปลายปี จะกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งตอนนี้เริ่มมีผลต่อผลผลิตเกษตรบางชนิด ท่วมพื้นที่เพาะปลูกทำให้ขาดแคลนและราคาสูงจนกระทบต่อต้นทุนผลิต
 
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อและเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ในการประชุมร่วมเอกชนกับภาครัฐ ก็เชื่อว่าจะมีแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาส4 รับการเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะความช่วยเหลือแหล่งทุน ลดต้นทุน และขยายตลาด” นายวิศิษฐ์ กล่าว
 
นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 15/2564 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน หรือถึงพฤศจิกายน 2564 และห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในเวลากลางคืน (เคอร์ฟิว) จากเดิม 21.00 -04.00 น. ขยับเป็นเวลา 22.00-04.00 น. นั้น แม้จะมองว่าขยายเวลาแบบช่วงสั้นๆ 
 
แต่ก็ดีกว่าไม่มีผ่อนคลาย เชื่อว่าศบค.ประเมินจากสถิติ ประสบการณ์ และมาตรการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากการผ่อนคลายครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากทั้งผู้ประกอบการและประชาชน ก็เชื่อว่าการผ่อนคลายเกือบทั้งหมดจะมากขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป และพอดีกับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้
 
“หลังการผ่อนคลายภายใน 7-14 วัน ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณได้ว่า จะยังเดินหน้าคลายล็อกหรือลดเวลาเคอร์ฟิวอีกหรือไม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ว่าเจ้าของธุรกิจจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายหรือเข้ามาใช้บริการได้สบายใจว่าปลอดเชื้อ และผู้บริโภคเองก็ยึดมาตรการป้องกันเข้มงวดด้วย เมื่อสถิติไม่เกิดการติดเชื้อใหม่ ก็จะทำให้ศบค.ปลดล็อกทุกอย่างในอีก 1-2 เดือนก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ นั่นคือต้องสร้างความมั่นใจทั้ง 2 ฝ่ายคือ ผู้ประกอบการ และลูกค้า ก็เหมือนกับสถิติเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไทย ตั้งแต่กันยายน ก็พบว่านักทื่องเที่ยวดูแลตนเอง ไม่นำไวรัสมาแพร่เพราะเขาฉีควัคซีนและตรวจหาเชื้อตามมาตรการอย่างเข้มงวด จึงเหลือกักตัว 7 วันจาก 14 วัน” นายวิศิษฐ์ กล่าว
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 27 กันยายน 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)