"จีน" จริงจังแค่ไหนกับการสมัคร "CPTPP" ?
"ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (ซีพีทีพีพี) เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 หลังจาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ถอนสหรัฐอเมริกาออกจากการเป็นสมาชิกข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ “บารัก โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริเริ่มขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิกโดยตรง
การสมัครขอเข้าเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ของจีน จึงเป็นเรื่อง “เซอร์ไพรส์” สำหรับหลายคนเลยทีเดียว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ความพยายามของจีนในการกลายเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกซีพีทีพีพี นี้จะลงเอยด้วยความล้มเหลวในที่สุด
เงื่อนไขของการได้สถานะเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีนั้น เริ่มต้นด้วยการได้รับฉันทานุมัติจากชาติสมาชิกเดิมทั้ง 11 ประเทศเสียก่อน นั่นหมายความว่า ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม ต้องไม่มีชาติไหนคัดค้านแม้แต่ชาติเดียว
ไล่เรียงกันแล้วมีไม่น้อยกว่า 3 ประเทศที่มีปัญหาความสัมพันธ์อยู่กับจีนในเวลานี้ ที่อาจทำให้การสมัครสมาชิกหนนี้แค่เริ่มต้นก็ล้มเหลวแล้ว
ในขณะเดียวกัน “จีน” ยังต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการยกระดับมาตรฐานหลาย ๆ เรื่องของตนเองให้ขึ้นสู่ระดับที่เป็นมาตรฐานของซีพีทีพีพี เป็นเงื่อนไขลำดับถัดมา
“แดน เทฮาน” รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย เพิ่งออกมาให้ความเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ชาติไหนก็ตามที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงทางการค้านี้ “จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานต่าง ๆ” ตามที่ความตกลงนี้กำหนดเอาไว้
บทบัญญัติของซีพีทีพีพี ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับจีนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก มีตั้งแต่เรื่องที่ว่าด้วยการส่งเสริมความลื่นไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ, บทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่าด้วยข้อจำกัดเข้มงวดต่อรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นกิจการของรัฐ
ที่ผ่านมาจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลาย ๆ เรื่องที่ถูกระบุว่าเป็น “การดำเนินการค้าอย่างไม่เป็นธรรม” ตั้งแต่การเข้าไปอุดหนุนกิจการของรัฐ, การขาดมาตรการให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อยไปจนถึงการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
ทีมวิเคราะห์ของแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ชี้ว่า เรื่องวิสาหกิจของรัฐ เรื่องการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มาตรฐานและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของจีนต่างไปจากของซีพีทีพีพี อยู่เยอะมากจนยากที่จะมองว่าจะมาบรรจบกันได้อย่างไร
นอกจากเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว การเข้าเป็นสมาชิกของจีนอาจจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อตอนที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เปิดการเจรจาเพื่อปรับปรุงความตกลงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ใหม่ จนได้ความตกลงใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ยูเอสเอ็มซีเอ นั้น มีข้อบัญญัติไว้ประการหนึ่งว่า สมาชิกของยูเอสเอ็มซีเอ จำเป็นต้อง “หารือกับชาติสมาชิกที่เหลือ” ในกรณีที่ต้องการทำ “ความตกลงทางการค้าใด ๆ” กับประเทศอื่นที่อยู่นอกเหนือจากภาคีสมาชิกยูเอสเอ็มซีเอ
เม็กซิโกกับแคนาดาเป็นทั้งสมาชิกของยูเอสเอ็มซีเอ และเป็นทั้งสมาชิกของความตกลงการค้าซีพีทีพีพี
ว่ากันว่า ตอนที่บัญญัติข้อนี้ลงไปในความตกลงยูเอสเอ็มซีเอ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ คำนึงถึงจีนไว้เป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคน อย่างเช่น สตีเฟน โอลสัน นักวิจัยด้านการค้าประจำมูลนิธิไฮน์ริช ชี้ว่า เมื่อตอนที่ก่อตั้งซีพีทีพีพี ขึ้นนั้น 11 ชาติสมาชิกได้ลดระดับความเข้มข้นของมาตรฐานสำคัญ ๆ ลงมาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม
ทำให้สิ่งที่บัญญัติเป็นกฎเกณฑ์อยู่ในเวลานี้ มี “ข้อยกเว้น” และ “ช่องโหว่” ให้เลือกใช้อยู่ได้มากมาย จนเป็นไปได้ว่าประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้อาจไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคของจีนอีกต่อไป
ในขณะที่ทีมวิเคราะห์ของยูเรเซีย กรุ๊ป เชื่อว่า จีนอาจตระหนักดีถึงความล้มเหลวในที่สุดของการขอเป็นสมาชิกครั้งนี้หรือไม่ ก็อาจไม่ได้จริงจังมากมายนักกับการเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี เนื่องเพราะจีนเป็นสมาชิกอาร์เซ็ป และทำความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียนอยู่ก่อนแล้ว มีเหลืออีกเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่เป็นสมาชิกของซีพีทีพีพี โดยเฉพาะคือ แคนาดา, เม็กซิโก, เปรู และชิลี
แต่การสมัครครั้งนี้ถือเป็นหมากการทูตที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง เพื่อขับเน้นให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนใด ๆ ในด้านการค้าและการลงทุนในเอเชีย–แปซิฟิก
มีแต่การรวมกลุ่มทางทหารที่มุ่งเน้นเพื่อการเผชิญหน้าอย่าง “ออคัส” เท่านั้นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 กันยายน 2564