เอเชียเผชิญหลากปัจจัยลบฉุดการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ภาคอุตสาหกรรมในเอเชียกำลังเผชิญกับหลากปัจจัยลบที่เป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น ชิปประมวลผลและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงอัตราค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่พุ่งสูงขึ้น และผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้หลายโรงงานต้องปิดตัว
เศรษฐกิจเอเชีย กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ สืบเนื่องจาก วิกฤตปัญหา รอบด้าน ตั้งแต่การขาดแคลนพลังงานและชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ไปจนถึงต้นทุนการขนส่งทางเรือที่ทะยานสูงขึ้น และการปิดตัวของโรงงานจำนวนมากซึ่งเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะที่ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศกำลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการฉุกเฉินที่ใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลอีกหลายประเทศกลับต้องมาบังคับใช้แผนงานต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคระบาดดังกล่าว ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในแง่ของภูมิภาคและของโลกยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
จากสถิติข้อมูลที่มีการเปิดเผยในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตโรงงานของญี่ปุ่นได้ชะลอตัวลงมาที่ระดับ 3.2 % ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งรายงานการผลิตที่ลดลง 1.5%
สถานการณ์ในญี่ปุ่นที่ยังดูย่ำแย่นี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียที่มีรายงานการปิดตัวของโรงงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
รายงานโดยรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และสินค้าไอที รวมทั้งเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายล่าสุดที่ออกมาประกาศพักสายการผลิตเพิ่มอีก 2-3 วัน เนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วน หลังคู่แข่งรายอื่นๆ ประกาศชะลอสายการผลิตด้วยเหตุผลเดียวกันไปก่อนหน้าแล้ว
นอกจากนี้ ตัวเลขค้าปลีกของญี่ปุ่นยังตกต่ำหนักว่าคาดถึง 4.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องใช้ผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ขณะเดียวกันภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตของจีนก็กำลังอ่อนตัวลงเช่นกัน โดยผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของผู้จัดการโรงงานทั้งหลายพบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือนกันยายนอยู่ที่ 49.6 หรือลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนสิงหาคม
รายงานข่าวระบุว่า การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรายงานการขาดแคลนพลังงานในจีน ที่ทำให้โรงงานในบางภูมิภาคของประเทศจีนต้องระงับการทำงานไปเมื่อเร็วๆ นี้
สาเหตุการลดลงของดัชนีดังกล่าว คือความต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะนโยบายการทำงานจากบ้าน (work from home) ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีปริมาณไมโครชิปไม่เพียงพอสำหรับการผลิต ขณะที่การขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทางเรือ และการปิดทำการของท่าเรือต่างๆ เป็นระยะๆ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ก็มีส่วนทำให้เกิดเหตุสะดุดในห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 3 สิงหาคม 2564