หอการค้าไทย ถอดบทเรียนโควิด แนะเอกชนปรับตัวรับ ศก. VUCA

ในการสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันฝ่าภัยโควิด” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีการจัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “New Normal : ประเทศไทยในวิถียั่งยืน” โดยมี “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเห็นแสงสว่างครึ่งปีหลัง
 
“ตอนนี้จะเห็นว่าวัคซีนเข้ามาแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีมาก ขณะเดียวกัน เดือนกันยายน 2564 ภาครัฐบาลก็มีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประชาชนภาคธุรกิจก็มีมากขึ้น”
 
“ซึ่งคิดว่าในไตรมาส 4 นี้ จะดีมากเพราะเป็นช่วงปลายปีมีเทศกาลต่าง ๆ การท่องเที่ยวก็เริ่มดี สิ่งสำคัญสุดเมื่อภาครัฐมีมาตรการที่ผ่อนคลายแล้ว ภาคธุรกิจมีความพร้อมที่จะวางมาตรการต่าง ๆ ที่จะคอยดูแลธุรกิจของตัวเอง ประชาชนให้ความร่วมมือมีจิตสำนึกในการใช้บริการต่าง ๆ คิดถึงความปลอดภัย คิดว่าทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน”
 
8 เดือน เศรษฐกิจสูญ 1 ล้านล้าน :
 
แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงเดือนสิงหาคม เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 เสียหายไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้ภาครัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% เป็น 70% ส่งผลให้สามารถกู้เงินเพิ่มได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท
 
คิดว่า 5 แสนล้านบาทสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาภาคธุรกิจ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 4 และ 5 แสนล้านบาท ที่เหลือใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 ทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวจากปี 2563 ติดลบ 6% กว่า
 
ถ้าเศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ประชาชนได้รับวัคซีนครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศปี 2565 จะเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก ทางคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) มองโอกาสขยายตัว 6-8%
ส่วนปี 2564 แม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก แต่เชื่อว่าทั้งปีนี้ยังขยายตัว 12-14% จากต้นปีนี้ที่เคยคิดว่าการส่งออกจะโต 10%
 
แนะนำผู้ประกอบการปรับตัว :
 
ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เช่น เร่งเอาเทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามาใช้อย่างเต็มที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่มากขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนด้วยตัวเอง หรือมีร้านค้าก็สามารถค้าขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้
 
ทั้งนี้ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยทำงานอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ตั้ง กรอ.พาณิชย์ เมื่อทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้การส่งออกโต และได้รับการสนับสนุนจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดต้องเป็นเซลส์แมน ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ก็เป็นเซลส์แมนเหมือนกัน
 
ปัญหาสภาพคล่องของเอสเอ็มอีเป็นสิ่งที่หอการค้าไทยให้ความสำคัญ จึงได้จัดทำโครงการต้นแบบนำร่อง (แซนด์บอกซ์) สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์ของธุรกิจค้าปลีก โดยเราร่วมมือกับสถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้ให้มีการจ่ายเงินให้เร็วขึ้น โดยสามารถนำใบคำสั่งซื้อมาเป็นหลักประกันได้
 
“สิ่งที่สำคัญที่สุดช่วงที่มีโควิด บริษัทใหญ่แม้ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้หนักเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ฉะนั้น ช่วงนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถเดินหน้าไปด้วยกัน”
 
นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้หารือกับ CEO และ 6 สถาบันการเงินว่ามีอุปสรรค ข้อจำกัดส่วนไหนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ออกกฎเกณฑ์ไว้เพื่อหามาตรการช่วยเหลือที่สามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ตรงไหนติดเครดิตบูโรจำเป็นต้องแก้ไขตรงไหน เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อได้
 
บทเรียนจากโควิดสอน :
 
บทเรียนจากโควิดที่เราเรียนรู้ทุกอย่างต้องมีความยืดหยุ่น จะต้องแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะเจอว่าเศรษฐกิจช่วงนี้เป็นช่วง VUCA คือ เศรษฐกิจโลกผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอนสูง (uncertainty) ความซับซ้อนสูง (complexity) ความคลุมเครือ (ambiguity) สิ่งเหล่านี้ทำให้การคลี่คลายปัญหาจัดการแบบ new normal ที่เราต้องจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ได้
 
ต่อไปการค้าไม่ได้มีแค่ภาษีอย่างเดียวแต่สิ่งแวดล้อมเข้าใกล้ตัวมากขึ้น หอการค้าก็ทำงานร่วมทุกฝ่ายเกี่ยวกับ BCG (biocircular-green economy) ซึ่งมีความสำคัญและสามารถทำให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจสตาร์ตอัพ เช่น อีวีมา รถไฟฟ้ามา ซอฟต์แวร์ลงทุนไม่ยาก คิดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีเกิดขึ้น
 
เราต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอย่างไร ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้อง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เข้ามา เราจะแนะนำ จับคู่ธุรกิจให้เอสเอ็มอี เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เอาคนมาลงทุนในประเทศทำอย่างไรให้การทำธุรกิจได้ง่าย กฎหมายเราจะล้าหลังไม่ได้ สิทธิประโยชน์ที่จะให้ผู้ที่เข้ามาลงทุน ซึ่งเรามีคู่แข่งทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย เราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
 
ข้อตกลงทางการค้าที่เราเข้าไป (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) RCEP ก็มีความสำคัญมาก เรามีการผลักดันเจรจาการค้าไปกับหลายประเทศ เอฟทีเอ ไม่อย่างนั้นเราสู้เวียดนามไม่ได้อย่าง CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ตอนนี้เวียดนามก็อยู่ในนั้น จีน อังกฤษ ไต้หวันก็จะเข้าประเทศไทยกล้าเริ่มเจรจาแสดงเจตจำนง 11 ประเทศรับเราไหม
 
ถ้าเราช้าต้องไปเจรจาประเทศอื่นอีก เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศก็เป็นเจ้าภาพ แต่เนื่องจากมีความกังวลหลายเรื่อง อยากเห็นการจับเข่าคุยกัน หาทางออกร่วมกัน เพราะการเจรจาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี
 
หอการค้าคิดว่าจะมีธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ซึ่งเรามี EEC อยู่แล้วก็ผลักดันให้เกิดขึ้น มีปัญหาก็ต้องช่วยกันหลังโควิดจะฟื้นฟูประเทศอย่างไร คิดว่าเรื่องโครงสร้างของประเทศไทยท่องเที่ยวส่งออก จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ก็ต้องเป็นเราที่จะสร้างผลกระทบที่ดีให้กับประเทศ
 
ไทยเรียกความเชื่อมั่นคืนมา :
 
ขณะนี้เราต้องส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่น เราต้องให้ความสำคัญกับการปรับ 3 แวลูเชน คือภาคการท่องเที่ยวและบริการ การค้า และภาคเกษตรต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้คุณภาพและศักยภาพ เพื่อที่จะไปแข่งขันได้
หอการค้าได้สร้างความเชื่อมั่น คือ ด้านการค้า ขายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ต้องขายต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป็น “ทีมไทยแลนด์พลัส”
 
การท่องเที่ยวและการบริการ ขณะนี้ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เอกชนก็ต้องสร้างแอปพลิเคชั่นในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เพื่อติดตามอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นตัวเดียว ถ้าทำได้ก็จะทำให้ผู้ที่มาใช้บริการท่องเที่ยว ทำธุรกิจได้รับเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกัน
ภาคเกษตรดูจากจีนจะเห็นว่า ส่งเสริมให้ความสำคัญเพื่อให้ความอยู่ดีกินดี ไม่ให้ความเหลื่อมล้ำ เอาเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่เรียนรู้กลับไปพัฒนาภาคเกษตร มีพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือในการค้า ระบายสินค้า สามารถแก้จนให้ภาคเกษตรและอนาคตเอาเทคโนโลยีให้จีนทรงพลังทุกเรื่อง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญ
 
นายสนั่นย้ำว่า ภารกิจสำคัญของหอการค้าไทยที่ต้องเดินหน้าไปให้ได้คือ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถให้เอกชน สิ่งที่จะเกิดไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เอกชนมองว่าต้องทำตัวอย่างไรให้เชื่อมการทำงาน ทำทุกอย่างให้เกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น สร้างความสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้อย่างยั่งยืน
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 
วันที่ 2 ตุลาตม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)