ธุรกิจหวั่นต้นทุนพุ่งท้ายปี "บาทอ่อน-น้ำมัน" ทุบซ้ำเศรษฐกิจ

ธุรกิจกุมขมับ ปัญหาเงินบาทอ่อนค่า-น้ำมันแพง ทำต้นทุนพุ่ง นายกสมาคมค้าทองคำโอด ต้นเหตุทำราคาแพงยอดนำเข้าลดวูบ จับตาเหล็กทำกระป๋องราคาพุ่ง ส่วนค่ายรถยนต์นำเข้าครวญตอนนี้ขายแทบไม่มีกำไร โดน 2 เด้งทั้งอัตราแลกเปลี่ยน-ภาษี ส่วนสินค้าไอที-ไอโฟน 13 แม้ต้นทุนจะเพิ่ม แต่โชคดีที่ดีมานด์มีมาก คนซื้ออยากซื้อ ขณะที่ ส.อ.ท.ชี้ปัจจัยค่าเงินหนุนส่งออกสดใส โกยรายได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
 
จากปัญหาค่าบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก รวมทั้งปัจจัยจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่ขณะนี้แม้รัฐบาลจะเข้ามาช่วยพยุง แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าทิศทางในอนาคต เริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งเรื่องของชิปคอมพิวเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงค่าระวางเรือที่แพงขึ้น
 
จับตาแนวโน้ม “บาทอ่อนค่า” :
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (5 ต.ค.) เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 11.3% ขณะที่ในไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านไป เงินบาทอ่อนค่าถึง 5.4% มากกว่า 2 ไตรมาสก่อนหน้า โดยเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
 
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมองกรอบค่าเงินบาทในไตรมาส 4 นี้ อยู่ที่ระดับ 33.00-33.25 บาท หากไม่มีปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปอย่างรุนแรงและกระทบนิคมอุตสาหกรรม หรือโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ขณะที่ราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้นก็มีผลกระทบกับค่าเงินบาทด้วย และสิ่งที่ตลาดกังวลหลัก ๆ จะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น
ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ประเด็นเรื่องเงินบาทอ่อนค่าพร้อม ๆ กับราคาพลังงานขยับขึ้น อาจจะมีผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันในประเทศ การที่รัฐบาลเข้ามาตรึงราคาน้ำมันดีเซลอาจจะช่วยได้ระยะหนึ่ง ขึ้นกับสถานการณ์ราคาพลังงานจะยาวแค่ไหน
 
ส่วนเงินบาทอ่อนก็มีผลกับต้นทุนของผู้นำเข้า แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่งจะฟื้นตัว ผลกระทบในเชิงลบต่อต้นทุนการนำเข้า
ในระยะข้างหน้า ค่าเงินดอลลาร์จะยังคงมีแรงหนุนให้แข็งค่าเป็นระยะ ๆ ไปจนกว่าเฟดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงปลายปี 2565 ดังนั้น ช่วงระหว่างทางดอลลาร์ก็อาจจะแข็งค่าเป็นช่วง ๆ และเงินบาทก็คงอ่อนค่าเป็นช่วง ๆ สลับแข็งค่าขึ้นบ้างเป็นช่วง ๆ ตามปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์
สำหรับเศรษฐกิจไทย การที่เงินบาทอ่อนค่ามีผลกระทบน้อยกว่าเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และการที่เงินบาทอ่อนค่านำภูมิภาค ก็ถือว่าช่วยให้ผู้ส่งออกของไทยได้เปรียบมากกว่า
 
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง จะกระทบกับผู้ที่นำเข้าที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่แพงขึ้น และจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเป็น cost put ที่ส่งผลกระทบทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการเจอกับปัญหาด้านซัพพลายอยู่แล้ว ทั้งกรณีชิปคอมพิวเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
 
ส.อ.ท.ชี้บาทอ่อนหนุนส่งออก :
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะที่มีรายได้จากการส่งออก เป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนประเทศ แน่นอนว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนจากการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์แพงขึ้น
แต่ผลสะท้อนจากต้นทุนที่ปรับขึ้นสามารถส่งผ่านไปเป็นราคาสินค้าได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า เอฟเฟ็กต์จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาส 4 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือ ถ้าน้ำมันแพงดันเงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจไทยไม่โต
 
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากปัจจัยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง และเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้า หลายสินค้าไม่จะเป็น น้ำมัน ภาคการผลิต และอาหารสด แต่สิ่งที่ห่วงคือภาวะเงินเฟ้อเพราะสินค้าแพงขึ้น แม้ไทยจะได้อานิสงส์เรื่องค่าเงินบาทที่เป็นตัวช่วยผลักดันให้ส่งออกได้มากขึ้นก็ตาม
 
ปัจจัยทำทองคำราคาแพง :
 
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น เงินบาทที่อ่อนค่าทุก ๆ 10 สตางค์ จะทำให้ราคาทองแพงขึ้น 70 บาท แต่ผู้ค้าทองยังคงนำเข้าทองคำตามปกติ เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ซื้อได้
 
โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นำเข้าทองคำลดลงไปมาก ถึงเดือนนี้นำเข้าแล้วประมาณกว่า 130 ตัน ต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้กำลังซื้อแย่กว่าปีที่แล้ว ราคาทองก็สูงขึ้น ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีราคาทองน่าจะขึ้น ๆ ลง ๆ เพราะกองทุนต่างประเทศมีการเก็งกำไรหุ้น ทอง น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ราคาผันผวน
 
ค่ายรถยนต์นำเข้าโดน 2 เด้ง :
 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มากนัก เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างมีการบริหารจัดการภายในและมีการประกันความเสี่ยงอยู่แล้ว
 
ที่สำคัญ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเป็นหลัก อย่างรถปิกอัพใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 90%, รถยนต์นั่งราว 60-70% ส่วนรถอีโคคาร์ 70-80% ค่าเงินที่อ่อนลงไป ยังถือว่าไม่ส่งผลกระทบใด ๆ แต่สำหรับรถยนต์นำเข้าอาจมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นและมีผลต่อราคาขาย
 
ขณะที่นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบีอาร์จี กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมจากต่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องกระทบต่อการทำตลาดผู้ประกอบการรถนำเข้ามาก เพราะเท่ากับต้องซื้อรถในราคาที่แพงขึ้นกระทบไปถึงผู้บริโภค ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับทุกสกุลอ่อนมาก ไม่ว่าจะแลกกับยูโร, ปอนด์, เยน ทางออกหลายบริษัทก็ซื้อฟอร์เวิร์ด
 
นายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวดี้ ประเทศไทย ที่ระบุว่า ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวส่งผลกระทบต่อภาวะการขายอย่างมาก เนื่องจากรถยนต์ออดี้ที่จำหน่ายในไทยต้องนำเข้าจากเยอรมนีทั้งหมด ตอนนี้ขายรถแทบไม่มีกำไร อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินยูโรเกือบทะลุ 40 บาทแล้ว แต่ออดี้ก็พร้อมแบกรับภาระให้ลูกค้า
ซึ่งเร็ว ๆ นี้อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาขายใหม่ และที่เป็นปัญหา คือ รถนำเข้าจะต้องเสียภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต ซึ่งคำนวณเป็นเงินบาทและแปรผันตามอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้รถออดี้เกือบทุกคันเสียภาษีแพงขึ้น แต่บริษัทยังต้องขายในราคาเดิม
 
ต้นทุนสินค้าไอที-ไอโฟน 13 พุ่ง :
 
นายปิยะสิทธิ์ ทองหยวก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดอุปกรณ์มือถือ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลให้ต้นทุนสินค้าไอที และสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสินค้าไอทียังต้องเผชิญกับปัญหาชิปขาด ทำให้ราคาสินค้ารุ่นใหม่ทั้งโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ส่งผลกระทบถึงยอดขายแต่อย่างใด เพราะอยู่ในสภาวะสินค้าไม่พอขาย
 
ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่ได้รู้สึกว่าสินค้าราคาสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้ารุ่นใหม่ ยกตัวอย่าง ราคาสมาร์ทโฟน ไอโฟน 13 หากเทียบกับไอโฟน 12 จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งตอบยากว่า แอปเปิลปรับขึ้นราคาจากปัญหาค่าเงิน หรือกรณีชิป นอกจากนี้ ราคาที่สูงขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อยอดจองไอโฟน 13 ที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
 
เหล็กขาดทำกระป๋องราคาพุ่ง :
 
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเหล็กบางประเภทเล็กน้อย โดยเฉพาะเศษเหล็ก เหล็กแท่ง โดยการรับมือในเวลานี้คือ ต้องเน้นซื้อในประเทศมากขึ้น ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าจาก 50:50 เหลือ 70:30
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถชะลอนำเข้าได้ ยังคงนำเข้าเพราะมีบางประเภท เช่น อัลลอย รวมถึง sub raw materials ที่ต้องนำเข้าเกือบ 100% เนื่องจากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ หากเงินบาทยังอ่อนค่าไปนานกว่านี้ โรงงานคงแบกรับทั้งหมดไม่ไหว สุดท้ายมันก็ไปกระทบผู้บริโภคปลายทาง
 
แหล่งข่าววงการเหล็กให้ข้อมูลว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทยังกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารกระป๋องด้วย จากปัจจุบันที่มีโรงงานผลิตเหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กเคลือบโครเมี่ยม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำกระป๋อง 2 แห่งในประเทศ คือ บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย (TTP) กับบริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส (STP) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ (ร้อยละ 90) โดย Nippon Steel Japan มีการขยับราคาขึ้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบราคา tinplate ความหนา 0.20 มม. นำเข้าจากจีน ล่าสุดอยู่ประมาณ 1,520-1,530 เหรียญ/ตัน ส่วนราคา tinplate ความหนา 0.25 มม. ราคานำเข้าอยู่ที่ 1,500 เหรียญ/ตันขึ้นไป
 
“ราคาเหล็กเคลือบดีบุกที่ขยับขึ้นมาเป็นผลมาจากจีนยกเลิกการให้ภาษีคืน หรือ rebate tax 13% ทิ้งไป พอนำเข้ามาบวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จึงกระทบกับราคานำเข้าสูงขึ้นมาก ขณะที่โรงงานผลิตเหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กเคลือบโครเมี่ยมในประเทศก็ไม่สามารถลดราคาลงได้ เนื่องจากวัตถุดิบนำเข้าขึ้นราคาเช่นกัน ส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตกระป๋องสูงขึ้น”
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการปุ๋ย ระบุว่า ขณะนี้แม้แนวโน้มราคาวัตถุดิบปุ๋ยและต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น จากค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นก่อนหน้านี้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากเดิม 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
 
ส่งผลทำให้ภาพรวมต้นทุนผลิตปุ๋ยเคมีสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการปุ๋ย ผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีรายใหญ่กว่า 10 ราย ยังคงให้ความร่วมมือดำเนินมาตรการตรึงราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี ในโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ! ปุ๋ยช่วยเกษตรกร” ต่อเนื่องจากเดิมที่สิ้นสุดเดือนสิงหาคม ออกไปจนถึง 30 ตุลาคมนี้
 
ขนส่งสินค้าบริหารเส้นทางสู้ :
 
นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า แฟลช เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า น้ำมันเป็นต้นทุนหลักอย่างหนึ่งของธุรกิจขนส่ง และจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีการเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าให้ได้มากขึ้น แต่ลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นที่สุด ด้วยระบบการบริหารจัดการเส้นทางการขนส่งพัสดุ และระบบการเรียงลำดับการจัดส่ง ซึ่งช่วยให้การจัดส่งพัสดุให้ถึงผู้รับโดยเร็วขึ้น และช่วยให้ต้นทุนลดลง
 
ขณะเดียวกันก็จะเลือกขนาดรถบรรทุกในการขนส่งสินค้าที่เหมาะสมกับปริมาณและน้ำหนักของสินค้า และในอนาคตวางแผนจะใช้รถขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทน ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ก็เตรียมพร้อมในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงหรือปัจจัยด้านราคาน้ำมันแพงได้เป็นอย่างดี
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 ตุลาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)