วิกฤติพลังงานในแดนมังกร เรื่องที่คุณต้องรู้ (2)
วิกฤติพลังงานในแดนมังกร เรื่องที่คุณต้องรู้ (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ น้ำท่วมในจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ภาวะแห้งแล้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะหารือกันถึงแนวทางออกอย่างจริงจัง และอาจนำไปสู่การกำหนดแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิกเพื่อลดโลกร้อนตามเป้าหมายใหม่ดังกล่าว
ในด้านหนึ่ง หากจีนให้ความร่วมมือกับการกำหนดเป้าหมายใหม่และแนวปฏิบัติดังกล่าว ก็ย่อมทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนเกิดเป็นรูปธรรมเร็วขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในอีกด้านหนึ่ง วาระการประชุมดังกล่าวดูเหมือนจะเพิ่มแรงกดดันกับจีนในการเร่งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
จีนไม่ต้องการเป็นฝ่ายตั้งรับต่อแรงกดดันดังกล่าว แต่พยายามแปร “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ในทันที คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ก็ไม่นิ่งดูดาย ในกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมา “สภาพัฒน์จีน” ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติในการกำกับควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับมณฑล และกำหนดให้เป็น KPI ของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการวัดระดับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งล่าสุดก็พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนมณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่งผลให้หลายมณฑลที่ตกเกณฑ์ต้องกระชับการคุมเข้ม การจำกัดการผลิตและการใช้กระแสไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นในวงกว้างของจีน
กระแสข่าวอีกส่วนหนึ่งระบุว่า สาเหตุของวิกฤติพลังงานแดนมังกรในครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหินกว่าเท่าตัวในช่วงปีที่ผ่านมา จนขึ้นแตะ 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งราคาน้ำมันดิบที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเฉียด 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อสิ้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
ด้วยต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นทำให้ 5 รัฐวิสาหกิจระดับชาติด้านพลังงานของจีนที่ไม่สามารถขึ้นราคากระแสไฟฟ้าที่ถูกควบคุมไว้ได้ง่ายๆ ต้องประสบปัญหาการขาดทุน ทั้งนี้ พี่เบิ้มทั้ง 5 หรือ “The Big Five” ที่คนในวงการพลังงานนิยมเรียกกันในปัจจุบัน ประกอบด้วย
• China Energy Investment Corporation (CEIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานลมรายใหญ่ภายใต้ชื่อ “หลงหยวน” (Longyuan) และเป็นเจ้าของเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของจีนภายใต้ชื่อ “เสินหัว” (Shenhua) รวมทั้งยังเชี่ยวชาญการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมในชื่อเดิม “เกาเตี้ยน” (Guodian)
• State Power Investment Corporation (SPIC) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด และมีใบอนุญาตการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์รายเดียวของจีน
• หัวเหนิง (Huaneng) เคยเป็นรายใหญ่ที่สุดมาก่อน และกำลังขยายงานเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
• หัวเตี้ยน (Huadian) ให้ความสำคัญกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ มีสัมปทานแหล่งก๊าซจากชั้นหิน (Shale Gas) และแอลเอ็นจี (LNG) ในต่างประเทศ
• ต้าถัง (Datang) กำลังประสบปัญหาในการแข่งขันยุคหน้า ที่ผ่านมาบริษัทฯ มุ่งเน้นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล และการลงทุนแปลงถ่านหินเป็นสารเคมี (ก๊าซ) ซึ่งไม่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน
ทำให้พี่เบิ้มทั้ง 5 จึงเลือกวิธีการให้ภาคประชาชนมาร่วมประหยัดการใช้กระแสไฟฟ้า และลดการปล่อยกระแสไฟฟ้า ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ หลายมณฑลของจีนถูกตัดกระแสไฟฟ้าในช่วง 12.00-14.00 น. ไฟสัญญาณจราจรในบางเมืองไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งสร้างปัญหาด้านการจราจรแก่ผู้คนในเมืองที่เกี่ยวข้อง จนสื่อตะวันตกเอาไปตีข่าวว่า โรงงานผลิตสินค้าชั้นนำของชาติตะวันตกขาดกระแสไฟฟ้าจนไม่สามารถเดินกำลังการผลิตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ประชาชนหลายร้อยล้านคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอีสานจีน เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นในยามค่ำคืน จนประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นและค่อนขอดรัฐบาลจีนผ่านเหว่ยปั๋ว อาทิ “ช่างเป็นเรื่องน่าผิดหวังยิ่ง” และ “นี่เราอยู่เกาหลีเหนือกันหรือเปล่า”
รัฐบาลจีนต้องออกมาอุดหนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าภาคประชาชน และเปลี่ยนมาใช้วิธีการจำกัดช่วงเวลาของการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อการผลิตในแต่ละวัน อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมในฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ถูกกำหนดให้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 07.30-15.30 น.
ขณะเดียวกัน ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในจีนประสบปัญหาด้านผลประกอบการเช่นกัน รัฐบาลจีนจึงต้องกระโดดออกมาแก้เกมส์ด้วยการปรับลดการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อลดอุปทานสินค้าของจีน การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนไม่เพียงแต่ต้องการกำกับควบคุมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น หรือก่อให้เกิดมลพิษมากอย่างใกล้ชิด อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปูนซิเมนต์ สารเคมี ฟอกย้อม และเฟอร์นิเจอร์ แต่ยังต้องการเห็นฐานการผลิตภายในประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย
นี่เป็นเสมือนการส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกที่ควบคุมราคาพลังงานโลกว่า จีนจะผลิตสินค้าในปริมาณและระดับราคาที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นการป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ดูเหมือนจีนกำลังจะทำให้ “การแยกขั้ว” ขยายวงและเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องก็ควรระมัดระวัง และประสานกับซัพพลายเออร์ในจีนอย่างใกล้ชิด
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 ตุลาคม 2564