ทรานส์ฟอร์ม "ท่องเที่ยวไทย" จับกลุ่มคุณภาพ-เน้นสร้างรายได้

จากนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสและเดินทางจากประเทศความเสี่ยงต่ำโดยไม่กักตัวของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปนั้น ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับประมาณการการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยใหม่
 
ท่องเที่ยวไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว :
 
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังจะก้าวสู่การฟื้นตัวในรูปแบบตัว V
 
โดยคาดการณ์ว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1 ล้านคน และตั้งเป้าว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50% ของปี 2562 และเพิ่มเป็น 2.4 ล้านล้านบาทในปี 2566 หรือประมาณ 80% ของปี 2562 และปี 2567 จะมีรายได้ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือกลับไปเท่ากับรายได้ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด
 
ปรับโครงสร้างคู่เปิด ปท. :
 
“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยนั้นจะมี 2 ลักษณะ คือ ในแง่ของเป้ารายได้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่จับต้องได้ การวางเป้าหมายว่าในปี 2566 นั้น ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วน 80% ของรายได้ปี 2562 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 20 ล้านคน หรือ 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562
 
นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะต้องมุ่งเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น
 
เมื่อเราเน้นสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยลง สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรมด้วย เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ดังนั้น โจทย์สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในเวลานี้ คือ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการเปิดประเทศแบบไม่กักตัวตามนโยบายของรัฐบาล
 
มุ่งสู่ Customer Centric :
 
โดยทิศทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเน้นการทำการตลาดที่ตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยว โดยเปลี่ยนจาก product centric เป็น customer centric ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา “สมาร์ททัวริซึ่ม” ที่เอื้อต่อการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาวิเคราะห์ และพัฒนา ส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม
 
เปลี่ยน mass market ที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม เป็น experience tourism เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและกลุ่มรายได้สูง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจต่างกัน
 
ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้านั้น ๆ และเปลี่ยนการทำงานแบบ fragmentation of stakeholders ที่ยังไม่บูรณาการ มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวสู่ collaboration สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บูรณาการทิศทางการให้บริการด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อสร้าง tourism business ecosystem ที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
 
เน้นรายได้มากกว่าปริมาณ :
 
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นด้านการสร้างคุณค่าให้เหนือกว่า “ราคา” หรือ value over volume เปลี่ยนวิธีสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เดิมมุ่งในด้านจำนวนคน เน้นขายสิ่งที่มีอยู่ ใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม ที่สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ในระยะยาว และขยายตลาดนักท่องเที่ยว กลุ่มคุณภาพสูงที่มุ่งเน้นคุณค่าของประสบการณ์เหนือราคา
และเปลี่ยนแนวทางการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว เน้นความปลอดภัยเป็นพื้นฐาน สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง มีคุณค่า ประทับใจเป็นจุดขาย หรือที่เรียกว่า BLUE zone (Business & Leisure Ultimate Experiences)
 
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มากขึ้น และเพื่อตอบโจทย์ปี 2566 ที่ต้องมีรายได้ 80% ของปี 2562 แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 50% ของปี 2562 จึงจำเป็นต้องปรับทั้งในฝั่งดีมานด์และซัพพลาย
 
โดยในด้านดีมานด์ไซด์นั้นต้องมุ่งทำตลาดเซ็กเมนต์และทำตลาดให้ตรงเซ็กเมนต์ ทำการตลาดด้วยเทคโนโลยี และประยุกต์การตลาดแบบสตอรี่เทลลิ่ง รวมถึงพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว
 
เดินหน้า Digital Tourism :
 
ขณะเดียวกันในด้านซัพพลายไซด์ต้องทรานส์ฟอร์มสู่ R&D tourism โดยจะเน้น 2 ส่วนหลัก คือ 
 
1).ปรับโครงสร้างเพื่อสร้างสมดุลระหว่างดีมานด์-ซัพพลาย บนพื้นฐานความยั่งยืน หรือ responsible tourism ซึ่งที่ผ่านมา ททท.มีมาตรฐานความปลอดภัยเรื่อง SHA และ SHA+ ในอนาคตอาจต้องมี SHA extra ซึ่งเป็นมาตรฐานในด้านความยั่งยืนด้วย
และ 
2).ยกระดับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เท่ากัน และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล หรือ digital tourism (ดูกราฟิกประกอบ)
 
โดยการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลจะเป็นตัวสำคัญในเรื่องของการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายมาก เนื่องจากดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ วิธีการสื่อสาร ฯลฯ โดยประเด็นที่ ททท.มีแผนจะดำเนินการนั้นประกอบด้วย 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 
 
1).การต่อยอดการเงินดิจิทัล
เช่น ผลักดันการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ให้สามารถนำคริปโทฯ ซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงมีการออกเหรียญดิจิทัลของ ททท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มผู้ถือคริปโทฯเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) และกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ ททท.ต้องการดึงให้เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย
 
2).ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี 
เพราะความล่าช้าแค่เสี้ยวนาทีก็จะทำให้เกิดโอกาสที่แตกต่างกัน 
 
3).เพิ่มทักษะดิจิทัล เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี 
 
4).สร้างความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และ 
 
5).สนับสนุนทางดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SMEs
 
ช่วยผู้ประกอบการขายล่วงหน้า
ทั้งนี้ ในส่วนของคริปโทเคอร์เรนซี หรือเหรียญเงินดิจิทัลนั้น ททท.ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการที่จะออกเหรียญ โดยสรุปคือว่า หาก ททท.ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทางสำนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯก็ไม่ได้ขัดข้อง
 
แต่เหรียญที่ออกมานั้นจะต้องเป็น utility token พร้อมใช้ ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแปลงคูปองในลักษณะที่เป็นโวเชอร์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล และเสนอขายในรูปแบบ utility token พร้อมใช้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ เหมือนกับการขายอีโวเชอร์
 
 
สามารถนำเงินที่ได้รับไปหมุนเวียนประกอบธุรกิจ หรือสามารถนำมาเป็นส่วนลด เป็นพริวิเลจให้กับผู้ที่ซื้อเหรียญก็ได้
 
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานนั้นอาจต้องดำเนินงานผ่านบริษัทลูก ซึ่งต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือนนับจากนี้
 
ททท.ตั้งบริษัทลูก รุก Digital Tourism :
 
ว่ากันว่า การท่องเที่ยวนั้นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในโลกอนาคตโดยมีโลกของ “ดิจิทัล” เป็นเครื่องมือสำคัญ การเปลี่ยนแปลงด้าน “ดิจิทัล” ในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
 
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า จากทิศทางดังกล่าวนี้ทำให้ ททท.จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล หรือต้องทรานส์ฟอร์มสู่ digital tourism ปรับโครงสร้างเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน หรือการสร้างสมดุลระหว่าง demand-side และ supply-side
 
โดยนำเทคโนโลยีไปปรับเปลี่ยน ทั้งเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นคนทำ ใครจะเป็นคนลงทุน ซึ่งขณะนี้คิดกันว่าหากจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ททท.ก็จะให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยมองว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการนำเอาเทคโนโลยีมาผสมกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อให้เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลให้มีคุณภาพมากขึ้น
 
ทั้งนี้ ททท.ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัฐกิจประการ) ว่า ททท.จะขยับไปรุกด้าน “ดิจิทัลทัวริซึ่ม” มากขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่า ททท.จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนและเป็นกำลังสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในอนาคต
 
โดยบริษัทดังกล่าวนี้จะมีสถานะเป็น “บริษัทลูก” มีรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือไทยแลนด์ อีลิท และบริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด ที่เจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มพำนักนานหรือลองสเตย์
 
“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ในเบื้องต้นจะใช้ทุนจดทะเบียนราว 100 ล้านบาท โดย ททท.ถือหุ้นในสัดส่วน 40% อีก 40% เป็นพาร์ตเนอร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยทำให้บริษัทนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ที่เหลืออีก 20% อาจเปิดให้สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้ามาร่วมลงทุน อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น
 
“การจัดตั้งเป็นบริษัทลูกโดย ททท.ถือหุ้น 40% นั้น เพื่อไม่ให้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ไม่ติดกับระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง สามารถรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหาร ส่วนพาร์ตเนอร์หลักจะเป็นใครนั้นคงต้องคุยกันอีกสักระยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สนใจเสนอตัวเข้ามาและได้เจรจากันไปบ้างแล้ว 
 
ซึ่งตอนนี้เรากำลังศึกษาโครงสร้าง เช่น บริษัทเครดิตบูโร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากรัฐมนตรีเห็นชอบ บอร์ด ททท. เห็นชอบน่าจะใช้เวลาจัดตั้งไม่เกิน 6 เดือน”
“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า ภารกิจหลักของบริษัทลูกด้านดิจิทัลดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการลงทุนด้านดิจิทัลแล้ว ยังมีแผนจัดทำด้านบิ๊กดาต้า และการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล อาทิ AR & VR, Blockchain และต่อยอดการใช้ “สกุลเงินดิจิทัล” หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” 
 
ในอนาคตให้สามารถนำคริปโทฯซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศไทย
รวมถึงมีการออกเหรียญดิจิทัลของ ททท.เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หลังจากผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้
ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทดังกล่าวนี้จะใช้เวลาก่อร่างประมาณ 3 ปี และสามารถสร้างรายได้ในช่วงปีที่ 3 ซึ่งจะสอดรับกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยพอดี พร้อมยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน หรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดแน่นอน
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 ตุลาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)