เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ไม่น่าไว้วางใจ (ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ)
ครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้คงต้องพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อสินค้าไทย (การส่งออก) หรือการซื้อบริการไทย คือการเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามา
แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในปีหน้าจึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3-4% หรือไม่ (โดยที่รัฐบาลบอกว่าจะทำให้จีดีพีขยายตัวได้เกินกว่า 5%) ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดพร้อมกับการประเมินภาพเศรษฐกิจโลกโดยไอเอ็มเอฟในเดือนตุลาคมที่แถลงออกมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น
ไอเอ็มเอฟแสดงความเป็นห่วงว่าแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อ่อนตัวลง จึงได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้ลงไปเล็กน้อยจาก 6.0% เหลือ 5.9% (ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้นปีนี้หากขยายตัวได้ 1% ก็คงจะดีแล้ว) แต่ไอเอ็มเอฟก็ยังยืนยันว่าจีดีพีโลกในปีหน้าจะขยายตัวได้ 4.9% ซึ่งลดลงจากปีนี้ แต่ก็เป็นตัวเลขที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า
ประเด็นที่สำคัญคือไอเอ็มเอฟยอมรับว่าแม้จะคงตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเอาไว้ที่เดิมคือ 4.9% แต่ก็มีความเสี่ยงว่าตัวเลขจะต่ำกว่าการคาดการณ์ (risk to growth forecast is on the downside) ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้น เช่น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าและการฉีดวัคซีนที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนเพียง 10% อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะมีการกลายพันธ์ที่อันตรายและรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้าได้
นอกจากนั้นการระบาดที่ปะทุขึ้นครั้งล่าสุดที่คาดไม่ถึงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่รุนแรงและยืดเยื้อเกินกว่าคาด ในขณะเดียวกันความต้องการสินค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองได้เป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลงโดยเฉพาะราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยลบดังกล่าวทำให้ไอเอ็มเอฟออกมายอมรับว่า แม้จะยังยืนยันคาดการณ์เดิมว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงเกินกว่าการคาดการณ์และยืดเยื้อ (upside risk to inflation forecast)
ใครที่ต้องการอ่านการประเมินของไอเอ็มเอฟอย่างสมบูรณ์สามารถอ่านได้ในบทที่ 2 ที่ได้พยายามนำการวิจัยในมุมมองต่างๆ มาสู่ข้อสรุปว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับลดลงมาที่ระดับปกติได้ภายในกลางปีหน้า ดังนั้นเราะจะรู้ดำรู้แดงได้ว่าไอเอ็มเอฟจะผิดหรือถูกภายใน 7-8 เดือนข้างหน้านี้
ประเด็นสำคัญของการประเมินของไอเอ็มเอฟนั้นผมคิดว่ามีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ
1).มีความหลากหลายภายใต้ภาพรวมดังกล่าว เช่น ประเทศสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นั้นถือได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีมากแล้วและในกรณีของสหรัฐกับอังกฤษนั้นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับสูงมาก (5%) มานานหลายเดือนแล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำในประเทศยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนั้นบางประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและต้องนำเข้าพลังงานก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจนไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้มากนัก ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกจะต้องชะลอตัวลงไปอีกแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็จะไม่สดใสมากนัก
2).แม้ว่าหลายคนจะกล่าวถึงและแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสภาวะ Stagflation คือการที่เศรษฐกิจโตอย่างเชื่องช้า แต่เงินเฟ้อถีบตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง (เห็นได้จากการทำ google search คำว่า Stagflation ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด) แต่ผมยังมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะ Stagflation ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังไม่สูงมากนัก
ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องถึงต้นไตรมาส 2 และการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflationary expectation) ขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐเร่งมือในการลดทอนคิวอีและส่งสัญญาณว่าพร้อมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นเพื่อปรามการคาดการณ์เงินเฟ้อ แม้ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศหลักเช่นสหรัฐจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงไปอีก ทั้งนี้จะเป็นไปตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟให้ติดตามดูการคาดการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดและหากขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ให้ธนาคารรีบเร่งสื่อสารว่านโยบายการเงินจะมีแผนการที่ชัดเจนที่จะควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับที่เหมาะสมในระยะยาว
3).ในขณะเดียวกันผมเชื่อว่านโยบายการคลังนั้นจะไม่ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากนักใน 2-3 ปีข้างหน้า เช่นในกรณีของสหรัฐนั้นเราก็เห็นอยู่ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังประ สบปัญหาอย่างมากในการขับเคลื่อนให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนั้นก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐในปลายปีนี้
สำหรับประเทศจีนนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้มีแผนการอะไรที่จะใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ตรงกันข้ามกำลังออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการขยายสินเชื่อของภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ (จึงได้เห็นการผิดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย common prosperity (ความมั่งคั่งถ้วนหน้า) ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวกหากมองในแง่ของการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศจีนก็กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานอีกด้วย
ดังนั้นจึงต้องสรุปว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปีหน้านั้นไม่น่าจะสดใสมากเท่ากับปีนี้ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ในขณะที่เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงเกินกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้เดิมและหากอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะสูงขึ้นต่อไปอีก ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็วเกินคาด อันจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกแผ่วลงต่อไปอีกได้
สภาวการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้อาจเกิดขึ้นได้ในครึ่งหลังของปีหน้า กล่าวคือเราจะต้องติดตามและประเมินสภาวการณ์อย่างใกล้ชิดใน 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อให้สามารถมีข้อสรุปที่แม่นยำว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะมีแนวโน้มที่เอื้ออำนวยหรือเป็นแรงต้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยครับ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 18 ตุลาคม 2564