วิกฤตขาดแคลนพลังงานสะเทือนเศรษฐกิจจีน
ทูตพาณิชย์ เมือง เซี่ยหมิน จีน เผยจีนรายงานสถิตการส่งออกจีนโตต่อเนื่อง จากปัจจัยเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านการขาดแคลนพลังงานที่อาจฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
นางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ( ผอ.สคต.)ณ เมืองเซี่ยเหมิน เปิดเผยว่า สำนักงานข้อมูลสภาแห่งรัฐ (The State Council Information Office of PRC) ได้จัดแถลงข่าวสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 โดยนาย Li Kuiwen โฆษกกรมศุลกากรแห่งชาติจีน ได้กล่าวว่า การส่งออกในปีที่ผ่านมา ทั้ง มูลค่าและอัตราการขยายตัวสูง คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มีอัตราการขยายตัว เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการค้าต่างประเทศของจีนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สถิติทั้งปีคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าต่างประเทศยังคง รักษาการพัฒนาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และปรับปรุงคุณภาพต่อเนื่อง
ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโต การค้าต่างประเทศของจีน :
1). การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศจีนฟื้นตัว เป็นรากฐานการเติบโตของการค้าต่างประเทศ 8 เดือนแรกของปี 2564 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น มูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (ผลประกอบการมากกว่า 20 ล้านหยวน) ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจจีนยังคงพัฒนาในทางที่ดี การผลิตและอุปสงค์ในการบริโภคของผู้บริโภคมี เสถียรภาพ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตของการค้าต่างประเทศ
2). เศรษฐกิจและการค้าของโลกฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยบวก ต่อการส่งออกของประเทศจีน เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า ปี 2564 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็น 5.9% องค์การการค้าโลก (WTO) ได้คาดการณ์ว่า ปี 2564 ทั้งปี ปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 10.8% และในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2564 อัตราการเติบโตของ การส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และแอฟริกาเกิน 20% และการส่งออกไปยังละติน อเมริกา เติบโตมากกว่า 40 %
3). ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ณ กลางเดือนต.ค. 2564 ดัชนี CRB ที่สะท้อนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว เทียบกับจุดต่ำสุดของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 130 % ซึ่ง 3 ไตรมาสแรก ของปีนี้ ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สินค้านำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น 11.3 % โดยราคานำเข้าเฉลี่ยของแร่เหล็ก น้ำมันดิบ ทองแดง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 %
4). ผลการดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการเติบโตการค้าต่างประเทศยังคงรักษาเสถียรภาพ ทั้งการพัฒนาการค้าต่างประเทศรูปแบบใหม่ ปฏิรูปการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท่าเรือ ส่งเสริมการปฏิรูปและนวัตกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและ การลงทุนในเขตการค้าเสรีนำร่อง ฯลฯ ศุลกากรแห่งชาติจีนได้ดำเนินนโยบาย 6 ประการเพื่อให้เศรษฐกิจ พัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและ 6 ประการเพื่อป้องกันการดำรงชีวิตของประชาชนมั่นคง ส่งเสริมการป้องกันและ ควบคุมโรคระบาดของโควิด-19 ในท่าเรือ ปรับปรุง สภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ท่าเรือต่อไป แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการการนำข้า ส่งเสริมการค้า ต่างประเทศให้เพิ่มปริมาณและปรับคุณภาพดีขึ้น
นาย Li Kuiwen ยังได้ชี้ว่า สำหรับแนวโน้มการเติบโตของการส่งออกในภาพรวม ปัจจุบันยังมีปัจจัยทั้งได้เปรียบและไม่ได้เปรียบหลากหลาย ทั้งนี้พื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงไปในทิศทางที่ดีในระยะยาว ซึ่ง ได้สนับสนุนปริมาณการค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การระบาดของโควิด -19 ในทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวยาก สภาพแวดล้อมภายนอกมี ความซับซ้อนและรุนแรง การพัฒนาการค้าต่างประเทศยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกมากมาย ตาม ข้อมูลจากศุลกากรระบุ การนำเข้าและส่งออกในไตรมาส 1-3 ของปี 2564 อัตราการขยายตัวเป็น 29.7% , 25.2% และ 15.2% ตามลำดับ ซึ่งอัตราการขยายตัวมีแนวโน้มลดลง เมื่อเปรียบเทียบจาก ฐานข้อมูลการค้าต่างประเทศใน ปี 2563 ที่เติบโตสูง ทำให้อัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 อาจลดลง เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การค้าต่างประเทศของจีนยังคงมีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง อัตราการ ขยายตัวของการค้าต่างประเทศของทั้งปียังคงเติบโตโดยเร็ว
นางสาวนันท์นภัส กล่าวว่า สำนักงานฯเห็นว่า ภาพรวมการค้าระหว่าง ประเทศของจีนใน 3 ไตรมาสแรกปี 2564 มีมูลค่า 28.33 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 15.55 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.7 และจีนมีมูลค่านำเข้า 12.78 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ซึ่งการค้าระหว่างประเทศเติบโต 5 ไตรมาสติดต่อกัน จะเห็นได้ว่าภาพรวมการค้าระหว่างประเทศมี การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่ใช้ แรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ อุปกรณ์ประมวลข้อมูลอัตโนมัติและชิ้นส่วน โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ และ ผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการดำเนินการผ่านมา 3 ไตรมาสจะเป็นขยายตัวอย่างมี เสถียรภาพ แต่ต่อจากนี้ไป ยังมีปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ของจีน แต่ หมายถึงเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างเช่น วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของจีนที่เกิดขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่อการ ส่งออกสินค้าในห่วงโซ่สินค้าไปทั่วโลก แม้ว่ารัฐบาลกลางจีนได้พยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้แต่ปัญหาที่ เกิดขึ้นเป็นวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีผลต่อห่วงโซ่สินค้าทั้งระบบ ทำให้สถาบันต่างๆ ปรับลด คาดการณ์การเติบโต GDP จีน อย่าง Nomura ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2021 เหลือ 7.7% จาก 8.2% ดังนั้น ทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวได้มากเพียงใด ยังคงต้องติดตามอย่าง ใกล้ชิด ซึ่งจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่กับประเทศทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 ตุลาคม 2564