ธุรกิจต้องรู้…เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าคาด ส่งผลต่อภาคการลงทุนอย่างไร
ในภาพรวมดูเหมือนว่าบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกเริ่มสดใสขึ้น หลังจากที่ COVID-19 กำลังจะกลายเป็นเพียงโรคประจำฤดูกาลตามรายงานของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงวัคซีนกันแล้ว ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตกที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลด้านเงินเฟ้อที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
ย้อนกลับไปใน ณ จุดเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบด้านการเงิน เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ คนบางกลุ่มอาจพบกับสภาวะขาดรายได้ชั่วคราวไปจนถึงการปิดกิจการ เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้สำหรับดำรงชีพหรือเพื่อประคองกิจการเอาไว้ ต่อมามีบางส่วนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้พุ่งสูงขึ้น
การมาถึงของวัคซีนเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 ทำให้บรรยากาศทั่วโลกผ่อนคลายลง กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนก่อนเกิด COVID-19 ภายในปี 2022 ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่า เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ภาระหนี้สิน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น การชะลอตัวด้านขนส่งหรือการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยดีดตัวขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะตึงตัวด้านการเงิน
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ประจำเดือนกันยายนยังพุ่งต่อที่ระดับ 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เช่นเดียวกับฝั่งยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 3.4% เงินเฟ้อในสองภูมิภาคนี้ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและก็เหนือกว่าระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางต้องการให้เป็น แต่ในทางกลับกันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่งพลิกตัวกลับมาในอยู่ในแดนบวกได้ที่ระดับ 1.68% หลังจากที่ติดลบ 0.02% ในเดือนก่อนหน้า เหตุผลหลักของการพลิกกลับมาเป็นบวกได้เนื่องจากการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อาทิ ค่าสาธารณูปโภค ส่งผลให้ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ของไทยยังคงต่ำอยู่เพียง 0.83% เท่านั้น
ด้วยความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อที่แสดงให้เห็นข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้นเป็นอย่างดี ทำให้ผู้กำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจอย่าง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศออกมาแสดงความเห็นต่อเนื่องเกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทยทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2021 ลงต่อเนื่อง เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงปี 2022 และจะกลับสู่ระดับปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 โมเมนตัมการฟื้นตัวยังคงดีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยูโรโซนที่ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างมาก และได้ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักของตระกร้าการคำนวณในหมวดที่อยู่อาศัย อาหารและการเดินทางค่อนข้างสูง
ย้อนกลับมาเรื่องการลงทุนกันบ้าง ดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐฯ และยุโรปบางดัชนีได้ทำหรือเกือบจะทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลไปแล้ว ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยอาจจะฟื้นตัวได้บ้างแต่ก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ผลของเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นนี้ได้ส่งผลให้กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของไทยอาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังคงมั่นใจได้ว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบันจะไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ที่เกิดปัญหาหลายภาคส่วน ในขณะที่นักลงทุนในต่างประเทศบางส่วนเริ่มให้ความสนใจลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อในปีนี้สูงถึง 15% ของเม็ดเงินรวมที่ไหลเข้าตราสารหนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี เรายังคงเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นที่มีนวัตกรรมที่ดีก็ยังคงเป็นแหล่งที่ปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในระยะยาวได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
ที่มา business today
วันที่ 27 ตุลาคม 2564