"UK" เจ้าภาพ COP26 เข็น "ไทย" ปักหมุดลดคาร์บอน

"สหราชอาณาจักร" ในฐานะเจ้าภาพ COP26 ผลักดันไทยปักหมุดลดคาร์บอน พร้อมหวังว่าจะใช้เวทีนี้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาสภาพอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงระดับวิกฤติในขณะนี้
 
“สหราชอาณาจักร” ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย.ปีนี้ ด้วยความหวังว่าจะใช้เวทีนี้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาสภาพอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงระดับวิกฤติในขณะนี้
 
“มาร์ค กูดดิ้ง” เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่า สหราชอาณาจักรเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel on Climate Change :IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่วิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่พบว่า  ปัจจุบัน อุณหูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียล ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกแบบสุดขั้วอย่างที่เห็นทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วมรุนแรง
 
"เราต้องเร่งขยายการจัดการและรับมือภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อให้มีโอกาสควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 องศาลเซลเซียล และคาดว่า เหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่านี้ เพราะถ้าสูงเกิน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่จะทำให้คนยากจนมีจำนวนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก" กูดดิ้ง กล่าว
 
ในการประชุม COP26 ซึ่งจะเป็นเวทีที่ผู้นำโลกจากหลายประเทศ รวมทั้งไทยและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) และภาคธุรกิจได้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ประกาศเจตนารมณ์และระดมความพยายามเพื่อจัดการวิกฤติ Climate Change ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญอย่างมากในปีแห่งการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ
 
การประชุมCOP26 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประการคือ :
 
1).ผลักดันให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในระดับโลกภายในปี 2593 และเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เสนอเป้าที่สูงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจำทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งในปีดังกล่าว และบรรลุเป้า Net Zero ภายในกลางคริสต์ศตวรรษนี้  
 
2).ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
 
3).ระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาครัฐและเอกชน
 
4).ร่วมมือและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเอาชนะความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
 
“แอนดรูว์ เบิร์น” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักร ประจำ UNESCAP กล่าวว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเป้าหมายใหญ่ และท้าทายสำหรับทุกประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสปี 2558
 
"ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และเราเข้าใจดีว่า มีอีกหลายประเทศยังไม่แสดงเจตนารมณ์เพื่อกำหนดเป้าหมายคาร์บอนฯเป็นศูนย์ แต่เราขอให้ทุกประเทศวางเป้าหมายมให้สูงขึ้น ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนเอง"เบิร์น กล่าว 
ในส่วนของประเทศไทย ให้คำมั่นในปี 2558 ว่าจะลดการปล่อยมลพิษลง 20% ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้ประกาศแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในระหว่างปี 2565 - 2600
 
 
เบิร์น มองว่า ไทยตั้งเป้าบรรลุในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษอาจจะช้าไป ขณะที่หลายประเทศตั้งเป้าไว้ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของ COP26 แต่อย่างไรเสีย ยังมีที่ว่างสำหรับประเทศไทยที่จะเพิ่มเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น 
 
ในระหว่างปี 2542 - 2561 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีตัวเลขความเสียหายสูงถึง 7,764 ล้านดอลลาร์ และประเทศไทยยังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียอีกในอนาคตคิดเป็นมูลค่า 300-420 ล้านดอลลาร์ และอาจสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรประเภทหลักๆอีกถึง 15% ภายในปี 2593  เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ยืดเยื้อและรูปแบบลมมรสุมที่คาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
 
เบิร์น กล่าวว่า "เราเข้าใจดีว่า ขณะนี้หลายประเทศนำงบประมาณมหาศาลมาจัดการและบรรเทาปัญหาทุกด้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความพยายามผลักดันให้ทุกประเทศใช้โอกาสนี้ฟื้นตัวจากระบาดของไวรัส เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศและของโลก
 
รัฐบาลสหราชอาณาจักร จะช่วยเหลือประเทศต่างๆให้ปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังระดมเงินทุนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
 
เบิร์น กล่าวในตอนท้ายว่า เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องทำมากมายเพื่อเป็นผู้นำระดับโลก และเชื่อว่าเมื่อไทยสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น และแสดงบทบาทนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภูมิภาค ย่อมมีอีกหลายประเทศดำเนินการตาม 
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)