เปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงฐานราก สมาพันธ์ SME จี้รัฐ ใช้งบให้ตรงจุด
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหนุนเปิดประเทศ เสนอรัฐบริหารความเสี่ยงสร้างความมั่นใจประชาชน ผู้ประกอบการไม่มีการล็อกดาวน์อีก พร้อมเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุม 100% ทั่วประเทศ แนะรัฐดึงเอกชนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ใช้เงินงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (covid-19) ที่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ตัวเลขรายงานอย่างเป็นทางการจะมีจำนวนต่ำกว่า 10,000 รายต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความกังวลของผู้ประกอบการ ที่แม้ว่าจะเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องมาควบคู่กับมาตรการป้องกัน และสนับสนุนจากภาครัฐ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ แต่ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก คือเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ไม่ใช่ว่าเมื่อเปิดแล้วเกิดปัญหาการระบาดอีกก็ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ จนต้องหยุดประกอบธุรกิจอีก ซึ่งจะเปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มเติมความบอบช้ำให้ผู้ประกบอการอีกไม่จบสิ้น
ขณะที่เรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเองก็ควรจะต้องเร่งดำเนินการ โดยจะต้องไม่ใช่ให้ความสำคัญแค่เพียงพื้นที่เสี่ยง แต่จะต้องให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชาชนนอกพื้นที่เสี่ยง เนื่อง จากมองว่าการเปิดประเทศก็เปรียบเสมือนทุกคนในประเทศมีความเสี่ยงจากการเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ ดังนั้นจึงไม่ใช่ฉีดให้ครอบคลุมแค่ 70% ของประชาชนแล้วจะเพียงพอ แต่จะต้องให้ได้ครบ 100% เพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือการทำให้ชุดตรวจ ATK เป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศเบื้องต้น และเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องใช้
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ภาครัฐควรพิจารณาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์นอกพื้นที่เสี่ยงด้วย เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นรูปแบบของการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดน ไม่ใช่เยียวยากลุ่มธุรกิจที่กำหนดไว้ โดยยังมีเอสเอ็มอีอีกเป็นจำนวนมากที่สมควรจะได้รับการเยียวยา ไม่ใช่นั้นจะเสมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการฟื้นฟูและการใช้เงินงบประมาณ ภาครัฐควรให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเวลานี้เงินดังกล่าวเหลืออยู่ปริมาณไม่มาก ซึ่งภาครัฐเองก็มีการขยายเพดานการกู้เงินเพิ่ม ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาเรื่องการใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดผลลัพธ์ได้มากที่สุด จากภาคเอสเอ็มอี และภาคเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคเอสเอ็มอีสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นไปด้วยดี โดยมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“สมาพันธ์ฯ มองว่า ณ เวลานี้ภาครัฐไม่ว่าจะออกมาตรการใด ควรที่จะดึงภาคเอกชนหรือเครือข่ายภาคเอกชนต่างๆ ในหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์การใช้เงินงบประมาณที่จะไปส่งเสริมทั้งภาคการท่องเที่ยว การค้า บริการ รวมถึงภาคการเกษตรของ SMEs โดยทำอย่างไรให้ไปส่งเสริมยุทธศาสตร์ลงทุนลดการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีมาจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ SMEs ยังขาดดุลอยู่”
นายแสงชัย กล่าวย้ำว่า สมาพันธ์เห็นด้วยกับนโยบายการเปิดประเทศ เพราะจะเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ถึงฐานราก แต่จะต้องมาควบคู่กับมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่เข้มงวด เพราะไม่ให้เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันอีก โดยสิ่งสำคัญที่ต้องยอมรับเวลานี้ก็คือ เงินอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์แต่จะต้องดำเนินไปควบคู่กับการพัฒนาแรงงานและผู้ประกอบการให้ถูกทิศทางด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564