วัคซีน Moderna ที่จองไว้ ฉีดแบบไหนได้บ้าง
วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนวัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรง 98.2% และข้อมูลจากการศึกษาในประเทศกาตาร์ยังพบว่าป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ 73.1% แต่เนื่องจากความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีน Moderna ในประเทศไทย บางคนยังไม่เคยได้รับวัคซีน บางคนอาจได้รับการฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นมาก่อนแล้ว จึงเกิดคำถามว่าวัคซีน Moderna ที่จองไว้จะสามารถฉีดแบบใดได้บ้าง
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงมติการประชุมของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งออกคำแนะนำในการฉีดวัคซีน Moderna แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ยังไม่เคยได้รับวัคซีนใดมาก่อน ควรฉีดวัคซีน Moderna 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
กรณีที่ 2 ได้รับวัคซีนยี่ห้ออื่นมาแล้ว 1 เข็ม อาจฉีดเป็นเข็มที่ 2 (สูตรไขว้) ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ ได้แก่
* Sinovac-Moderna
* Sinopharm-Moderna
* AstraZeneaca-Moderna
* Pfizer-Moderna
กรณีที่ 3 เคยได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แบ่งเป็น 2 กรณีย่อย คือ
* หากได้รับวัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม ควรฉีดเป็นเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ห่างจากเข็มสุดท้าย 4 สัปดาห์
* หากได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ควรฉีดเป็นเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ห่างจากเข็มสุดท้ายประมาณ 6 เดือน แต่สามารถฉีดได้ก่อนได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
แต่เนื่องจากคำแนะนำนี้ยังไม่ครบคลุมทุกรูปแบบการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ผู้ที่จองวัคซีนไว้อาจอ้างอิงจากตารางคำแนะนำการฉีดวัคซีน Moderna ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของกรมควบคุมโรค และมีกรณีที่น่าจะเป็นข้อสงสัยของหลายท่าน กล่าวคือ
กรณีที่ 3 แต่เป็นสูตรไขว้ Sinovac-AstraZeneca ซึ่งเป็นสูตรไขว้หลักในประเทศไทย ควรฉีดเป็นเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ห่างจากเข็มสุดท้าย 6 เดือน
กรณีที่ 4 เคยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว เช่น Sinovac-Sinovac และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น AstraZeneca หรือ Pfizer แล้ว ยังไม่แนะนำให้ฉีดเป็นเข็มที่ 4
สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน หากอ้างอิงตามแนวทางการให้วัคซีนโควิดของกรมควบคุมโรค ฉบับสิงหาคม 2564 ว่า ถ้ายังไม่เคยได้รับวัคซีนใดมาก่อน หรือยังได้รับไม่ครบ 2 เข็ม หากติดเชื้อโควิด ให้ฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้เพิ่มอีก 1 เข็ม ภายใน 1-3 เดือนหลังจากเริ่มป่วย (ฉีด 1 เข็มหลังติดเชื้อ 4 สัปดาห์) ส่วนผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็มแล้ว ไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
แต่หากอ้างอิงคำแนะนำของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมี 3 กรณีย่อยคือ
* ถ้าฉีดวัคซีน 1 เข็มแล้วติดเชื้อโควิด ควรฉีด 1 เข็มหลังติดเชื้อ 4 สัปดาห์
* ถ้าติดเชื้อโควิดแล้วฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer แล้ว ยังไม่แนะนำ
* ถ้าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มขึ้นไป ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม แล้วติดเชื้อในภายหลัง ยังไม่แนะนำ ยกเว้นฉีดเข็มที่ 2 ไม่ถึง 2 สัปดาห์แล้วติดเชื้อ ให้ฉีด 1 เข็ม
ทั้งนี้ คำแนะนำการฉีดวัคซีนนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนตามข้อมูลการศึกษาในภายหลัง ประชาชนควรติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมโรค โรงพยาบาลที่จองวัคซีนไว้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564