คิดเห็นแชร์ : "คน" ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19
สําหรับท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาขอแชร์มุมมองถึงความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถรักษายอดขายและกำไรไว้ได้ ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการค้า การบริการและการท่องเที่ยว ต้องปิดกิจการ หรือต้องลดจำนวนแรงงานลง
จากข้อมูลภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของสภาพัฒน์ พบว่า มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ 1.89% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานถึง 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานใหม่จากกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 2.9 แสนคน ซึ่งมียอดผู้ว่างงานสูงและสวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานในตลาดจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และจากการประมาณการโดยหน่วยงานภาคเอกชน ในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องชะลอการผลิตลงเพราะขาดแรงงาน
จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ว่างงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานต่างๆ ของไทยเหล่านี้ ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีโอกาส หรือทางเลือกอื่นในการสร้างรายได้แบบอิสระที่มีรายได้ดีหรือเริ่มดำเนินธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่แรงงานไทยเองก็เลือกที่จะกลับสู่ภาคการเกษตรในท้องถิ่นที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและมีแหล่งงานที่ดีในท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,056 ราย หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา และมีจำนวนมากกว่าจำนวนธุรกิจที่ปิดตัวลง ดังนั้น เมื่อจำนวนธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ในขณะที่สถานการณ์การกระจายตัวของคนในสังคมที่ถูกเร่งจากผลกระทบของโควิด-19 อัตราการเกิดของประชากรที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น และการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วนั้น จึงเห็นเป็นแนวโน้มชัดเจนได้ว่า ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคขนส่ง หรือภาคใดๆ นั้นจะมีจำนวนแรงงาน หรือพนักงานในองค์กรลดลง มีการแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น
ดังนั้น “คน” จะเป็นความท้าทายที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าภาคธุรกิจใดในยุคต่อไปหลังโควิด-19 นี้ จึงมี 3 ประเด็นที่สำคัญคือ
1).ผลิตภาพ (Productivity) การบริหารจัดการผลิตภาพในองค์กร เนื่องจากแรงงานมีแนวโน้มจะลดน้อยลงและหายากขึ้น การใช้เทคโนโลยี ไอที เครื่องจักร และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้องค์กรสามารถดำเนินการต่อไปข้างหน้าได้
2).นวัตกรรม (Innovation) การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ หรือการบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและทิศทางของเทรนด์โลกในอนาคต รวมถึงการทำการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจุดสำคัญในการเจาะตลาดผู้ที่มีกำลังซื้อที่มีจำนวนลดลง หรือกลุ่มผู้ที่ยังพอมีกำลังซื้ออยู่ในยุคหลังโควิด-19 ได้
3).ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลองค์กรที่ดี ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รักษาแรงงานในองค์กรให้อยู่ได้นานมากขึ้น ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งป้อนแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับผู้คนในสังคม และดึงดูดคน หรือแรงงานที่มีคุณภาพมาร่วมงานกับองค์กร
สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านคิดเห็นแชร์ทุกท่าน ก้าวผ่านความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่นั้น
สำหรับในมุมมองของผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผ่านมา เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจสามารถฝ่าปัญหาและประสบความสำเร็จไปสู่จุดมุ่งหมายทางธุรกิจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship Spirit ที่ไม่ได้มีการสอนในสถาบันการศึกษา แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้มาจากประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง และเรียนรู้จากความล้มเหลว ลองผิดลองถูก ซึ่งต้องอาศัยจิตใจที่มุ่งมั่นและทักษะในการแก้ปัญหาปรับตัวต่างๆ มากมาย
ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่เคยฝ่าวิกฤตมาตั้งแต่ครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2550 วิกฤตการณ์น้ำท่วม ในปี 2554 จนถึงวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ย่อมมีประสบการณ์และภูมิคุ้มกันในการเผชิญความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
โดย ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์
ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ
กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564