เหตุผลที่คนจำนวนมากลังเลเรื่องวัคซีน หมอธีระวิเคราะห์ 3 สิ่งที่ควรทำ
หมอธีระวิเคราะห์เหตุผลที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังลังเลเรื่องวัคซีน พร้อมแนะ 3 สิ่งที่ควรทั้งทบทวนนโยบายและมาตรการจัดซื้อจัดหา แจกจ่ายวัคซีนนั้นไปยังทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ปรับระบบและกลไกต่างๆ ตั้งแต่ระดับนโยบาย และวิชาการ
รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
23 พฤศจิกายน 2564 ทะลุ 258 ล้านคนไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 426,726 คน ตายเพิ่ม 5,188 คน รวมแล้วติดไปรวม 258,333,961 คน เสียชีวิตรวม 5,173,716 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน รัสเซีย และฮังการี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 97.53% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.98%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 64.76% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 65.43%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา :
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 6,428 คน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
หากรวม ATK อีก 1,507 คน จะขยับเป็นอันดับ 12 ของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ไทยเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากตุรกีและเวียดนาม
ตอนนี้ไทยมียอดรวมตามหลังอิรักเพียง 4,239 คน อิรักติดเชื้อใหม่เพียงวันละไม่กี่ร้อยคน ดังนั้นหากรวมจำนวนติดเชื้อใหม่วันนี้ ไทยจะแซงอิรัก ขึ้นเป็นอันดับ 23 ของโลกได้
เหตุผลที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังลังเลเรื่องวัคซีน
เรื่อง Vaccine hesitancy นั้นเป็นเหมือนกันทั่วโลก :
แต่หากเราสังเกตกันในประเทศจะพบว่า คนไทยเรานั้นน่ารักมาก เพราะส่วนใหญ่ล้วนตื่นตัวขวนขวาย ทำทุกวิถีทางที่จะเข้าถึงวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก
ดังที่เห็นจากข่าวการไปเข้าคิวฉีดวัคซีนอย่างหนาแน่นในจุดฉีดวัคซีนอยู่เป็นประจำ
จะมีสักกี่ประเทศในโลกที่จะมีคนมากมายยินยอม ยินดี และสมัครใจ ทุบกระปุก ควักกระเป๋า เพื่อจองวัคซีนให้กับตัวเองและครอบครัว แถมหลายคนหลายครอบครัวเกรงจะไม่ได้ จึงยอมจองหลายที่ด้วยซ้ำไป
ทั้งๆ ที่ ตามหลักการแล้ว การป้องกันโรคนั้นเป็นบริการพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ทันต่อเวลา
ดังนั้นเมื่อเห็นปรากฏการณ์ที่ผ่านมา จึงสะท้อนให้เห็นว่า เหตุผลที่คนจะลังเล ไม่แน่ใจ หรือตัดสินใจไม่รับ คงหนีไม่พ้นว่าจะต้องมาจากเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกัน
ปัญหาวิกฤติอื่นๆ ทั่วโลกนั้นเคยได้รับการวิเคราะห์จากนักวิชาการ และชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นจากการที่โลกตกอยู่สถานะที่เรียกว่า "VUCA world" ที่ย่อมาจาก Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity แปลง่ายๆ คือ ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือไม่ชัดเจน
หากผนวกทั้งสองเรื่องที่เล่าให้ฟังแล้ว ถ้าประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เจอปัญหา hesitancy อยากชวนให้ทุกคนมารับวัคซีน สิ่งที่ควรทำคือ
หนึ่ง ทบทวนนโยบายและมาตรการ จัดซื้อจัดหาและใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย โดยใช้ข้อมูลวิชาการมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของสากลโลก (ประสิทธิภาพ)
สอง แจกจ่ายวัคซีนนั้นไปยังทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน และทันที (ทั่วถึงและทันเวลา)
สาม ปรับระบบและกลไกต่างๆ ตั้งแต่ระดับนโยบาย และวิชาการ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สาธารณชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดทุกอย่างอย่างชัดเจน โดยประยุกต์ต่อยอดจากที่เห็นในระบบของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น US FDA, US CDC, EMA, ECDC ก็จะช่วยทำให้ลดเรื่องความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือไปได้ไม่มากก็น้อย
แนวทางข้างต้นนั้นย่อมเป็นทั้งด้านวิชาการ และการสร้างความเชื่อมั่น ผ่านการทำให้เกิดกลไกนโยบาย วิชาการ และระบบบริการ ที่เป็นที่ไว้วางใจ
ส่วนเรื่องการจูงใจโดยใช้แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น การสะกิดพฤติกรรม (Nudge) ก็สามารถนำมาใช้เสริมได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนนั้นสำคัญ ช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ยังสามารถติดเชื้อได้ อาจป่วยและเสียชีวิตได้ด้วย และแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้
สิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้เลยคือ ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็จำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างจากคนอื่น สองเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,748 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,047,272 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 53 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,748 ราย กำลังรักษา 83,093 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,945,127 ราย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564