"ยูเค" ดึงไทย - อาเซียนพันธมิตรการค้าหลังโควิด-19

สหราชอาณาจักร(ยูเค)ปักหมุดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในฐานะพันธมิตรที่สำคัญในเวทีโลกหลังได้รับสถานะคู่เจรจาอาเซียนลำดับที่10 ในปีนี้ เดินหน้าสร้างสัมพันธ์การทูตให้เน้นแฟ้น พร้อมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
 
“ลิซ ทรัสส์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่าการฟื้นเศรษฐกิจประเทศหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด ส่วนใหญ่ได้แรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนและการค้าเสรี ซึ่งสหราชอาณาจักรพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างตรงไปตรงมา และจัดหาทางการเงินที่เชื่อถือได้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
 
จึงเป็นเหตุผลที่ยูเคประกาศโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา (Build Back Better World :B3W) ในการประชุมG7ที่เมืองคอร์นวอลล์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รวมถึงลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเทคโนโลยีดิจิทัล
 
ขณะที่ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์เมื่อต้นเดือนนี้ สหราชอาณาจักรประกาศเพิ่มเติมในโครงการ Clean Green Initiative ซึ่งเป็นแพ็คเกจการระดมทุนหลัก หวังสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนต่อไป
 
“เราใช้ความเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สนับสนุนการปฏิบัติการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และใช้ความเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยและภูมิภาคฟื้นตัวจากการระบาดโรคโควิด-19” ทรัสส์ กล่าว
 
เมื่อเร็วๆนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศเงินลงทุน 110 ล้านปอนด์หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็นกองทุนสีเขียวเพื่อสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน(ASEAN Catalytic Green Finance Facility) ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) หวังให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเข้าถึงภาคการเงิน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19ได้
 
กองทุนสีเขียวนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด โครงสร้างพื้นฐานทันสมัยในเมืองสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยมองว่า การร่วมลงทุนกับมิตรประเทศอย่างไทย และประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย จะช่วยเพิ่มการสร้างงาน ตลอดจนสนับสนุนแนวทางbuild back better และช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ
 
ส่วนความร่วมมือด้านการค้าที่มีกับประเทศไทยและอาเซียนนั้นทรัสส์ มองว่า นานเกินไปแล้วที่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและ 10 ประเทศอาเซียนดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
หากเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ก็มีสมรรถนะต่ำถึงเวลาติดเทอร์โบชาร์จนี่เป็นเหตุผลที่ยูเคและไทยลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) จะเป็นเวทีเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีของสองประเทศ เพื่อเร่งรัดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างลึกซึ้งแก้ไขปัญหาอุปสรรค และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ในปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ให้เป็น 7,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2567
 
ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 - 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทรัสส์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และร่วมหารือกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล การขับเคลื่อนการลงทุนและความร่วมมือด้านความมั่นคง
 
ขณะเดียวกัน มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ไทรอัมพ์ของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในภูมิภาคนี้ โดยทรัสส์ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีธุรกิจอังกฤษกว่า 5,000 แห่งที่มีการส่งออกมายังประเทศไทย แต่เราต้องการเพิ่มตัวเลขให้สูงยิ่งขึ้นอีก เพื่อสร้างงานและโอกาสต่อกันมากขึ้น”
 
นอกจากนี้ ทรัสส์ ยังร่วมหารือกับภาคธุรกิจทั้งไทยและอังกฤษในประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนอย่างยั่งยืน
 
“เรามองว่าไทย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน ซึ่งจะเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนเพราะมีความใกล้ชิดและสัมพันธ์อันดีกับ 10ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ซึ่งการที่อาเซียนรับรองสถานะประเทศคู่เจรจาให้กับยูเค จะเป็นหนทางกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัล และเทคโนโลยี” ทรัสส์กล่าว
 
สหราชอาณาจักร มีคณะผู้แทนทางการทูตในประเทศสมาชิกทั้ง 10ประเทศและผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตา ขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรอาเซียนในประเด็นต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการตอบสนองระหว่างประเทศต่อการระบาดของโรคโควิด-19
 
ในสถานะประเทศคู่เจรจาจะช่วยให้ยูเคสามารถยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่อีกระดับหนึ่ง เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือในด้านใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
 
ในอนาคต สหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านต่างๆ ทั้งแบบทวิภาคีเป็นรายประเทศและความร่วมมือพหุภาคีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับอาเซียน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)