1 ปีผ่านไป ภาพรวมการฟื้นตัวจากโควิดทั่วโลกเป็นอย่างไร
เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่ Bloomberg ได้จัดอันดับ 53 ประเทศและดินแดนที่ยืดหยุ่นหรือฟื้นตัวจากโควิดได้ดีที่สุดจนถึงแย่ที่สุดในช่วงที่โรคระบาดยังดำเนินอยู่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลชี้วัดสำคัญตั้งแต่การควบคุมการระบาดของไวรัส ไปจนถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต การกระจายวัคซีน และความก้าวหน้าในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางเข้าออกได้
และนี่คือภาพรวมทั้งหมดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ไปดูกันว่าประเทศไหนคือผู้ชนะ และประเทศใดที่ยังต้องปรับปรุงเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ
ประเทศที่มีการฟื้นตัวสม่ำเสมอที่สุด :
จากเครื่องมือชี้วัดของ Bloomberg บ่งชี้ว่าไม่มีประเทศใดที่ประสบความสำเร็จตลอดทั้งปี ดังจะเห็นได้จากนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ซึ่งเคยอยู่อันดับ 1 ในด้านการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส และสามารถกลับสู่ภาวะปกติในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2020 แต่แล้วก็เผชิญกับการระบาดซ้ำของโควิด เมื่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาแทรกซึมเข้าไปในป้อมปราการ Covid Zero ของประเทศเหล่านี้ จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์และจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ขณะที่สหรัฐฯ ที่ครองอันดับ 1 อยู่ช่วงหนึ่งในเดือนมิถุนายน
และ อิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่กระจายวัคซีนเร็วที่สุดในโลก และได้ยกเลิกมาตรการคุมเข้มกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 ต่างก็เผชิญกับการระบาดของโควิดอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับวัคซีน
ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆ ก็มีความผันผวนเช่นกัน โดยประเทศอย่างเม็กซิโกและบราซิลที่เคยอยู่อันดับต่ำสุดในช่วงต้นปี 2021 กลับสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ สืบเนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ประกอบกับการมีระดับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่สูงขึ้น
ขณะที่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วงลงมาอยู่อันดับท้ายๆ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ประกอบกับการระบาดซ้ำของโควิด ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเหล่านี้ต้องเผชิญกับภาวะซวนเซ
แต่หากดูที่ความเสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งปีนั้น พบว่ามี 7 ประเทศที่ Bloomberg มองว่าทำได้ดี ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เคยขึ้นไปครองอันดับ 1 ได้ก็ตาม ทว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังไม่เคยร่วงลงมาต่ำกว่าอันดับ 26 จากทั้งหมด 53 อันดับ โดย 7 ประเทศนี้ประกอบด้วย นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, แคนาดา, เกาหลีใต้ และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในด้านการกระจายวัคซีน, การต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลตา และการเปิดเศรษฐกิจ
ส่วนประเทศที่ย่ำแย่ในภาพรวมมี 9 ประเทศ ซึ่งไม่เคยขึ้นไปอยู่ครึ่งบนของตารางเลย ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, อิหร่าน, เม็กซิโก, บราซิล, เปรู, โปแลนด์, ไนจีเรีย, ปากีสถาน และ แอฟริกาใต้ โดยล้วนเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายจากโรคระบาดมากที่สุด อีกทั้งยังมีการติดเชื้อมาก และประชาขนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้
ความก้าวหน้าในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ :
ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่วัคซีนเริ่มแพร่หลายในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และรัฐบาลเริ่มคลายข้อจำกัดต่างๆ Bloomberg ได้เพิ่มตัวชี้วัด 2 ตัวเข้าไปคำนวณเพิ่ม คือ Vaccinated Travel Routes และ Flight Capacity เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าในการเปิดประเทศและการกลับสู่ภาวะปกติ
การกระจายวัคซีนช่วยให้หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ด้วยอัตราการเสียชีวิตที่เบนออกจากเส้นกราฟการติดเชื้ออย่างชัดเจน โดยประเทศในยุโรป, อเมริกาเหนือ และบางประเทศในเอเชียแปซิฟิกต่างมีนโยบายที่จะอยู่ร่วมกับโควิด โดยมองเป็นโรคเฉพาะถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนี Community Mobility ที่ใช้ติดตามกิจกรรมการเคลื่อนไหวของสำนักงานและธุรกิจค้าปลีกเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดโรคระบาด พบว่ามีบางประเทศที่มีกิจกรรมค่อนข้างคงที่ เช่น กรีซ, สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี โดยทั้ง 4 ประเทศมีกิจกรรมรายสัปดาห์ที่หดตัวลงไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว
แม้ว่าประเทศข้างต้นจะมีอัตราการติดเชื้อสูง และบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยังมีผู้เสียชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ข้อมูลชี้ว่าประชาชนของประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการทนกับการใช้ชีวิตประจำวันที่หยุดชะงัก และส่วนใหญ่ไม่กลัวไวรัสอีกต่อไป แต่กระนั้นช่วงฤดูหนาวนี้อาจมีบททดสอบที่สำคัญ เมื่อโควิดอาจกลับมาระบาดอีกระลอก
ส่วนประเทศในกลุ่มรั้งท้ายหากวัดด้วยดัชนีนี้ ประกอบด้วย ปากีสถาน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ชิลี และ อิสราเอล ซึ่งมีระดับการเคลื่อนไหวหดตัวลง 10% ขึ้นไปในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดซ้ำของโควิดทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหว
ในขณะที่มาตรการล็อกดาวน์มีความเกี่ยวโยงกับแนวทาง ‘Covid Zero’ ที่มุ่งขจัดการแพร่ระบาดของโควิดให้หมดไป แต่จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศและเขตการปกครองเพียงสองแห่งของโลกที่ยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่พบกิจกรรมภายในที่หดตัวลงเกิน 10% นับตั้งแต่ต้นปี 2021 อย่างไรก็ตาม นี่ไม่นับรวมการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งในจีนและฮ่องกง
การป้องกันการเสียชีวิต :
การระบาดโควิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกแล้วกว่า 5 ล้านคน (ตัวเลขแท้จริงอาจสูงกว่านี้) แต่การเสียชีวิตกระจายไม่เท่ากันในประเทศต่างๆ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดในช่วงปีแรกของการระบาดก่อนที่จะเริ่มมีวัคซีนใช้งาน
สำหรับจีนนั้น เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดต่ำที่สุดจาก 53 ประเทศและดินแดนที่ได้รับการจัดอันดับ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 3 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนนิวซีแลนด์ อยู่อันดับที่ 2 มีเพียง 8 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลีย ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิดในปีแรกก็ล้วนมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 100 คนต่อประชากรทุกๆ 1 ล้านคน
ในทางตรงกันข้าม เปรูเป็นประเทศที่เลวร้ายที่สุด หากวัดที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิด ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 6,093 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่สหรัฐฯ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการควบคุมการระบาด และชาติยุโรปมีอัตราการเสียชีวิตราว 2,000 ต่อประชากรทุกๆ 1 ล้านคน
สถานการณ์ของไทย :
คะแนนความยืดหยุ่นช่วงโควิดของไทย (Bloomberg’s Covid Resilience Ranking) อัปเดตล่าสุดจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม ไทยร่วงลงมา 1 อันดับ สู่อันดับที่ 51 จากทั้งหมด 53 ประเทศและดินแดนที่ได้รับการจัดอันดับ โดยมีทั้งหมด 46.8 คะแนน สูงกว่าเพียง 2 ประเทศ คือ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน (44 และ 40.5 คะแนนตามลำดับ) แต่ไทยมีคะแนนหลายด้านที่ดีขึ้น เช่น ความครอบคลุมด้านระบบสาธารณสุข ความเป็นอยู่ของประชากร และการฉีดวัคซีน
ส่วนอันดับ 1-5 ของโลก ได้แก่ ไอร์แลนด์ (75.1), สเปน (74.6), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (74.6), เดนมาร์ก (74.3) และฟินแลนด์ (74.2)
Winter is coming :
ช่วงฤดูหนาวในซีกโลกเหนืออาจทำให้อันดับในตารางผู้นำเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากหลายประเทศจะเผชิญกับฤดูหนาวแรกที่มากับบททดสอบเรื่องวัคซีนกับไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยเวลานี้หลายประเทศในยุโรป เช่น ออสเตรีย, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นระลอกใหม่ จนส่งผลให้รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาด
ซึ่งเราจะได้เห็นว่าอันดับจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในรายงานการจัดอันดับประจำเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะออกในสัปดาห์หน้า
ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก แต่มาตรการเหล่านี้จะเพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของไวรัสได้หรือไม่ หรือเราจะได้เห็นทั่วโลกกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อการระบาดระลอกใหม่จากไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้นอาจเป็นตัวบีบให้ต้องทำเช่นนั้น ซึ่งเราต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา the standard
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564