ส่องโอกาสธุรกิจ “ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้” เชื่อม 3 ประเทศ
หอค้าไทย แนะปั๊มรายได้ “การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว” ผ่านระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ เชื่อมไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (CVTEC)
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานประชุมสัมมนานานาชาติ ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว บนระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (CVTEC)” ที่จัดในวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน ที่โรงแรม Swisstel Bangkok Ratchada เพื่อเป็นเวทีสร้างเครือข่ายสำหรับการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ผู้ประกอบการไมซ์ของจังหวัดต่างๆ เชื่อมโยงกับ 3 ประเทศ
คือ ชลบุรี- ระยอง-จันทบุรี-ตราด กับจังหวัดเกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกป ของกัมพูชา และจังหวัดเกียนยาง-กาเมา ของเวียดนาม เพื่อเป็นโอกาสรองรับนักเดินทางไมซ์หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ อีกทั้งจับคู่ธุรกิจด้านการค้าและการลงทุน ของเอสเอ็มอีไทย เจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อและโมเดลเทรด ที่มีสาขาในกัมพูชาและเวียดนาม
ทั้งนี้ โครงการ CVTEC เป็นโครงการที่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหอการค้าและภาคท่องเที่ยวของกัมพูชาและเวียดนาม และปีนี้เพิ่มพันธมิตรในการจัดงาน คือ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เป็นโครงการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อ
เพื่อใช้กลไกลไมซ์ผลักดันให้เกิดการยกระดับการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) และยังสามารถพัฒนาให้เชื่อมโยงกับเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ในอนาคตด้วย แต่ละจังหวัดบนพื้นที่เชื่อมโยง CVTEC เป็นเส้นทางที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สามารถเดินทางระหว่างกันได้อย่างสะดวกทั้งทางรถและทางเรือ นอกจากมีจุดขายของสินค้าและบริการในพื้นที่แล้ว การทำตลาดไมซ์ในรูปแบบ 1 Marketing 3 Destinations และช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ของทั้ง 3 ประเทศด้วย
นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า แผนงานส่งเสริมกิจกรรมไมซ์บนเส้นทางเชื่อมโยง CVTEC ของ สสปน. ปีนี้นั้น เนื่องจากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมกิจกรรมไมซ์ในปีแล้ว สสปน. มีแผนดำเนินกิจกรรมไมซ์สู่ภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การผลักดันให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการค้าการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมทั้งสินค้าและบริการบนพื้นที่ ผ่านกลไกการจัดงานแสดงสินค้า โดยสนับสนุนงบประมาณการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและบริการเด่นของพื้นที่
รวมถึงการสนับสนุนการเดินทางมาของนักธุรกิจไมซ์จากกัมพูชาและเวียดนาม ร่วมกิจกรรมเจรจาทางธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างการรับรู้ถึงสินค้าบริการใหม่บนพื้นที่เชื่อมโยง 3 ประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม FAM TRIP เพื่อเป็นการนำเสนอและต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์บนเส้นทางสายไมซ์ โดยใช้องค์ประกอบ Thailand 7 MICE Magnificent Theme (7 Theme) เป็นกลไกเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ของทั้ง 3 ประเทศ ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ของ 3 ประเทศ ได้มีโอกาสในการเจรจาจับคู่ทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายด้านธุรกิจไมซ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรม MICE Business Roadshow CVTEC
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผลักดันให้ภาคเอกชนและเครือข่ายในพื้นที่ ใช้เวที CVTEC ในการสร้างเครือข่ายเพื่อรวมตัวกันเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพในการประมูลสิทธิ์ งาน International Meeting & conference ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเด่นลงในพื้นที่ด้วย
สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ เป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดของไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุดในประเทศ ในขณะที่กัมพูชาและเวียดนามในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็มีอัตรา GDP อยู่ในระดับสูง (ประมาณร้อยละ 7)
และจังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญไปสู่ศูนย์กลางและภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ดังนั้น การเสริมศักยภาพการเชื่อมโยงกันของเส้นทางไมซ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าและการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศได้มีประสิทธิภาพ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564