สุดปัง! กูเกิลเผย "ตลาดดิจิทัล" ไทย ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

Google เผยรายงาน "ตลาดดิจิทัล" ของอาเซียน เติบโตแบบก้าวกระโดด คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ส่วนไทยรั้งอันดับ 2 ตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ รองจากอินโดนีเซีย
 
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Google, Temasek และ Bain & Company ได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2021 ระบุว่า ตลาดดิจิทัลของภูมิภาคนี้ กำลังก้าวเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573
 
 
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่กลุ่มธุรกิจไอทีและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องรู้! เพื่อนำไปต่อยอดไอเดียสร้างแบรนด์และมาร์เก็ตติ้งได้อย่างตรงจุด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมและสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
 
1). "ตลาดดิจิทัล" ในอาเซียน เติบโตพุ่งแรง :
 
รายงานชิ้นดังกล่าวระบุว่า จำนวนผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัล
 
ส่งผลให้มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจแตะ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี 2564 และมีแนวโน้มทยานสู่ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 
 
2). "ตลาดดิจิทัล" ของไทย ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน
 
เมื่อเจาะลึกในประเทศไทย พบว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้ ตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลของบ้านเรา จะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% 
 
 
3). เจาะปัจจัยหนุนที่ทำให้ "ตลาดดิจิทัล" ไทยยิ่งก้าวกระโดด
 
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดดิจิทัลไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดนั้น ในรายงานชิ้นนี้อธิบายไว้ว่า มาจาก "อีคอมเมิร์ซ" ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยพบว่าภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตขึ้นถึง 68% เทียบจากปีก่อน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยหนุนเสริมเช่นกัน ได้แก่
* สื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% ซึ่งขับเคลื่อนโดยจำนวนเกมเมอร์หน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น มีความต้องการซื้อและใช้จ่ายในเกมมากขึ้น
* ธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% 
* 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้
* ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว
 
4. ผู้ใช้งานหน้าใหม่ของไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
ในรายงานระบุอีกว่า ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน นับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 (ถึงครึ่งแรกของปี 2564)
* กว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก
* อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงถึง 90% (สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์)
* คนไทยใช้บริการดิจิทัลหลากหลายประเภท เช่น ซื้อสินค้าออนไลน์, ใช้บริการส่งอาหารออนไลน์ ฯลฯ 
* กว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาด ยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
* 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต
 
5). ธุรกิจดิจิทัลต้องคว้าโอกาสให้ตรงจุด
 
 
สิ่งที่นักธุรกิจในวงการดิจิทัลควรปรับตัวในยุคนี้ คือ จะต้องมีความสามารถในการตอบรับความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) โดยมีคำแนะนำจาก Google  ดังนี้ 
 
* ทำให้ลูกค้าใช้งานแอพฯ / เว็บไซต์ ให้ง่ายที่สุด 
 
ผู้ใช้งานกว่า 50% ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้พวกเขาสะดวกสบายขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรออกแบบให้การใช้งานบนเว็บไซต์/แอพฯ ได้ง่าย ด้วยการแสดงผลิตภัณฑ์และคำอธิบายที่เด่นชัด เพื่อให้ลูกค้าค้นหาและเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้ง่าย
* สร้างความผูกพันระหว่างลูกค้าและแบรนด์ของคุณ
สำหรับธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัล สิ่งที่สำคัญในยุคนี้อาจไม่ใช่การดึงดูดลูกค้าใหม่ แต่คือการเพิ่มความผูกพันของแบรนด์กับลูกค้าและเพิ่มมูลค่าการสั่งซื้อ เช่น นำเสนอตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น หรือ พัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการชำระเงินดิจิทัลที่หลากหลายและสะดวกขึ้น
 
* รับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง
 
ควรรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งานหรือการซื้อสินค้าของลูกค้าเสมอ จะช่วยให้แบรนด์ทราบถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อที่จะแก้ไขจุดบกพร่องและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)