เศรษฐกิจฟื้น-โลกร้อน ท้าทายแผนจัดการพลังงานปี 65

งานสัมมนาออนไลน์ 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum หัวข้อ “Global Climate Action for A Better World– ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ทีม PRISM Expert ปตท.ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สอท. จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10
 
ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานกระแสของพลังงานในอนาคตและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกต่างจับตามอง ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันทรงตัวสูงและกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ ทำให้ทิศทางพลังงานจากนี้เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดทั้งการอยู่ร่วมกับยุคสมัยแห่งฟอสซิลและการก้าวข้ามไปสู่พลังงานแห่งอนาคต
 
 
บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สอท. กล่าวในหัวข้อ “Global Climate Action for A Better World ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ว่า ปี 2564 นี้ โลกเรายังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ละประเทศต่างเตรียมพร้อมรับมือการฟื้นฟูประเทศในรูปแบบตัวที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะความต้องการปริมาณพลังงานที่เริ่มกลับมาตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป หรือ จีน หันมาตั้งเป้าหมายและกำหนดนโยบาย ที่ช่วยแก้ปัญหา Climate Change ซึ่งของการสัมมนาในปีนี้ จะเป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ได้กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ รวมถึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้
 
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายวิกฤติ 2 อย่างพร้อมกัน ทั้งที่มาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการการใช้น้ำมันที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกส่งผลต่อรูปแบบการใช้พลังงานทั่วโลก และความต้องการการใช้น้ำมันที่ไม่แน่นอนนี้
 
ทำให้ผู้ผลิตฯ บางส่วนยังคงชะลอการผลิตและการลงทุน ส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดที่เกิดในหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากทั้งปัญหาโควิดและกลุ่มโอเปคพลัส มีความขัดแย้งที่ผ่านมา ทำให้ราคาน้ำมันดิบที่มีทั้งราคาต่ำช่วงโควิดปีแรก บวกกับกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตทำให้ความต้องการน้ำมันกับจำนวนน้ำมันมี่ผลิตไม่สมดุล จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าตอนนี้กลุ่มโอเปกจะกลับมาหารือและคุยกันดีอีกครั้ง แต่ปีต่อๆ ไปจะมีปัญหาขัดแย้งกันอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็มีผลต่อการผันผวนของราคาพลังงานเป็นอย่างมาก
 
“ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่จากเดิม “Thai premier multinational energy company” เป็น “Powering life with future energy and beyond” เพื่อปรับตามบริบทที่ทำได้จริง เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต"
 
สำหรับ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67–75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์และกลับมาระบาดอีกครั้ง รวมถึงอุปทานในตลาดที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
 
อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิดส่งผลโดยตรงกับการใช้น้ำมันจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมากิจกรรมถูกหยุดชะงัก โดยองค์การแรงงานได้รายงานตัวเลขคนตกงานทั่วโลกกว่า 255 ล้านคน เพิ่มจำนวนผู้ยากจนอีกกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก และเมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดประเทศการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 
 
หากย้อนไปช่วงโควิดปีแรก ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ปริมาณน้ำมันล้นตลาด และราคาต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการกลับมา และความล้าช้าในการกลับมาผลิตของผู้ผลิต เหตุจากผู้ผลิตหลายรายเจ็บตัวและปิดตัวลง ยังมีผู้ผลิตหลายรายเอาตัวรอดมาได้ แต่ใช้เทคโนโลยี สร้างความเชื่อมั่น กลุ่มโอปคกลับมาสร้างข้อตกลงลดการผลิต ดังนั้น จะต้องจับตาการประชุมโอเปคว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันอย่างไร
 
ในขณะที่ การประชุม COP26 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ปรากฏให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของนานาชาติในการร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้การเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี2050 กลุ่มปตท. พร้อมเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ พร้อมจัดหาพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อรักษาสมดุลและความมั่นคงทางด้านพลังงาน ให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2065 ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต
 
อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความต้องการด้านพลังงานยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับเปลี่ยนโลกปัจจุบันสู่โลกอนาคตที่จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศให้น้อยลง กลุ่มบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญและเลือกใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งแต่ปี2000 ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะใช้อีกราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ใน 6 ปีข้างหน้า
 
สำหรับ สัดส่วนสำคัญที่ใช้คือพลังงานเชื้อเพลิงมีมูล่าตลาดสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ คือกลุ่มผู้ผลิตพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงาน ถือเป็น 3 ส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุด โดยรวมแล้วมากกว่า 70% ของทุกภาคส่วน ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการหาเทคโนลยีมาบริหารจัดการ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ที่มีแหล่งอุตสาหกรรมมาก จะช่วยลดบริมาณก๊าซที่ปล่อยสู่บนอากาศในประเทศไทยได้ ตอบสนองความต้องการของโลก ลดผลกระทบ ลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่อากาศ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)