อธิบดีกรมศก.ระหว่างประเทศ มองโอกาส-ความท้าทาย เส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีหารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจเรื่องการปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มติชนจึงถือโอกาสพูดคุยกับนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบรางจากจีนมายังภูมิภาค และเราควรจะรับมือกับโอกาสรวมถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างไร
เส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาวที่กำลังจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อภูมิภาคบ้าง :
วันที่ 2 ธันวาคม ถือเป็นจุดที่ต้องจับตามองสำหรับการเติบโตของภูมิภาคในอนาคต เรามองว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รถไฟเส้นนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสำคัญ เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงทางรางเส้นแรกที่พาดผ่านมาทางลาวและจะเชื่อมมายังไทยในอนาคต ก่อนหน้านี้จีนมีเส้นทางรถไฟเชื่อมมาทางเวียดนามแล้วเส้นทางหนึ่ง แต่เส้นทางดังกล่าวไม่ส่งผลกับไทยมากนัก
ขณะที่การเชื่อมโยงเข้ามาในลาวทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
ไทยมองตนเองว่าเป็นจุดกลางเชื่อมโยงในภูมิภาคมานับร้อยปี แต่พอมีเส้นทางเชื่อมโยงที่ไม่ได้ออกแบบโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง เราจึงต้องมาดูว่าไทยจะอยู่ในภาพการเชื่อมโยงนี้อย่างไร ไทยพร้อมมากน้อยแค่ไหน กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคธุรกิจได้มีการพูดคุยกันเป็นกระบวนการต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว และเห็นว่ามี 2-3 เรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ
เรื่องแรก
คือนัยทางภูมิศาสตร์ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนะ และมุมมองของไทยในการกำหนดยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงของเราหรือไม่อย่างไร รวมถึงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย
เรื่องที่สอง
คือการเชื่อมต่อจากจีนเกิดขึ้นจริงแล้ว ในประเทศไทย กฎระเบียบภายในและกฎหมายต่างๆ แผนพัฒนาพื้นที่ชายแดนของเรามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร เรามีการเตรียมพร้อมแค่ไหน เราจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะกลายเป็นปากประตูสู่การเชื่อมโยงของเส้นทางรถไฟ
พี่น้องภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรามองทิศทางและอนาคตเศรษฐกิจของเราอย่างไร
เราต้องมอง shape ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในอนาคตว่าควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 การเชื่อมโยงนี้ทำให้เราต้องคิดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องทำให้ธุรกิจของเรามีความหลากหลายมากขึ้น ถ้าวันนี้รายได้จากการท่องเที่ยวยังคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย มันเสี่ยง เพราะถ้าเกิดเหตุเช่นเดิมขึ้น คนกว่า 4 ล้านคนก็เสี่ยงที่จะตกงาน
ดังนั้นการเชื่อมโยงนี้เตือนว่าการเขียนแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องมีความยั่งยืน อย่าให้คนเสี่ยงต่อดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น เราจะช่วยกันเพื่อทำให้การพัฒนามีความยั่งยืนได้อย่างไร และทำให้คนของเราได้รับการพัฒนาได้อย่างไร
ประการสุดท้าย
คือในความเป็นจริงแล้วการทูตเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยมีเอกชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องมั่นใจว่าภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนภาคเอกชนทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เพราะสิ่งที่เราตอบสนองหลักคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย
เช่นนั้นเราจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวอย่างไร :
ไม่อยากให้ตระหนกแต่อยากให้มองว่า 2 ธันวาคม เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า วันนี้การเชื่อมโยงในภูมิภาคเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องบนกระดาษอีกต่อไป ที่สำคัญการเตรียมความพร้อมของเราต้องมองรอบด้าน จะเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งถ้าเรามองแค่ว่าพอวันที่ 2 ธันวาคม เราต้องมีรถไฟเชื่อมต่อและต้องมองปัจจัยอื่นๆ ในภาพรวมมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร :
สิ่งสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยเมื่อเกิดการเชื่อมต่อกันคือทำอย่างไรจะให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อไม่ได้รับประกันว่าเสถียรภาพจะเกิดขึ้น แต่ไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคเปราะบางมากขึ้นจากวิกฤตโควิด มีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความเป็นไปได้ในการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ และการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อประเทศใดประเทศหนึ่งในระดับสูง ต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานว่าเราจะดูแลในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยและอนุภูมิภาคอย่างไร
วันนี้เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาค ยิ่งเป็นการย้ำท่าทีของไทยว่า ไทยเองก็ต้องแน่ใจว่าเรายืนอยู่เคียงข้างเพื่อนบ้านของเรา ต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะสามารถร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในความสามารถที่เราจะทำได้ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย
มองว่าเส้นทางรถไฟนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง :
อย่างแรกการค้าและการขนส่งสินค้าจะเกิดขึ้นแน่นอน สภาอุตสาหกรรมประเมินว่า หากมีการเชื่อมต่อโดยสมบูรณ์มายังไทย จะช่วยลดต้นทุนทางการค้าตลอดเส้นทางได้ถึง 30-50% แต่ภาพเหล่านี้จะยังไม่เกิดจนกว่าเราจะเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งภาครัฐก็มีหน้าที่ที่เราต้องทำ และต้องนำไปดำเนินการต่อ กระทรวงคมนาคมก็มีแผนการชัดเจนที่จะเชื่อมต่อ แต่ต้องมีงบประมาณ และการขับเคลื่อนดำเนินการตามแผนมันก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา แต่รัฐบาลมีแผนว่าใน 3-5 ปีข้างหน้าน่าจะเกิดโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ขึ้นมาได้
ขณะเดียวกันพี่น้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรมีส่วนในการขับเคลื่อนอนาคตของพวกเขาว่าแผนภาพใหญ่ในการพัฒนาควรเป็นอย่างไร มีการพูดถึงเรื่องท่องเที่ยว แต่ไทยเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือไม่ อะไรคืออนาคตของการท่องเที่ยวไทย ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ไทยจะต้องเน้นลงทุนในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง ต้องดูสิ่งที่เป็นจุดแข็ง (strength) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีทั้งทุนมนุษย์และสถาบันการศึกษาที่เข้มแข็ง
บางคนมองว่านี่คือการแพร่ขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน :
ไม่อยากให้มองอย่างนั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนเพื่อพัฒนาภาคตะวันตกตามนโยบายของเขา เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากๆ ที่เขาต้องขยายแผนที่ทางเศรษฐกิจของเขาออกไป และเรื่องทุนและคนก็ตามออกไปโดยปริยาย จึงเป็นเรื่องของประเทศที่มีอธิปไตยของตนที่รายล้อมอยู่ต่างหากที่จะต้องดูว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร เราเป็นเพื่อนบ้านของประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก มันเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่เราต้องบริหารจัดการร่วมกัน
การพูดคุยในวันนี้ ภาคเอกชนไทยตื่นตัวกับเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาวมากหรือไม่ :
เราบอกว่าการหารือที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการปลายเปิด ซึ่งในไทยยังไม่ค่อยมีกระบวนการที่มานั่งพูดคุยกันในลักษณะนี้มากนัก กรมเศรษฐกิจฯพยายามนำประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยกัน เรื่องรถไฟเชื่อมจีน-ลาวได้รับความสนใจค่อนข้างสูง ผู้บริหารเบอร์ 1 ของหลายองค์กรมาร่วมการพูดคุยด้วยตนเอง เราเริ่มกระบวนการนี้มา 2-3 เดือนแล้ว
จากการพูดคุยออนไลน์เพื่อดูว่าเนื้อหาควรมีอะไรบ้าง เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเรามาให้ข้อแนะนำซึ่งกันและกัน เป็นเวทีที่ย้ำเตือนว่ามีอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้แต่ละหน่วยงานมีมุมมองรอบด้านมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงในภูมิภาค และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย สิ่งที่เน้นคือเส้นทางรถไฟจีน-ลาวมันไม่ได้เชื่อมโยงโดยตัวมันเอง แต่เราต้องมีแผนว่าทิศทางของเราเองจะมุ่งไปในจุดใด
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564