พัฒนาการกฎหมายบริการดิจิทัล ของสหภาพยุโรป | EU WATCH
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีธุรกิจออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายมากขึ้น อียู จึงต้องการออกกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมการให้ "บริการดิจิทัล" และตลาดดิจิทัลที่ทันสมัยนี้
การออกกฎระเบียบดิจิทัลใหม่นี้ นอกจากเพื่อควบคุมการให้บริการและตลาดดิจิทัล สหภาพยุโรป (อียู) ยังต้องการปฏิรูปกฎหมายอี-คอมเมิร์ซ (Directive 2000/31/EC on E-commerce) ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ที่มีความล้าหลังและตามการเปลี่ยนแปลงของโลกออนไลน์ไม่ทัน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 อียูจึงได้เสนอร่างกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act (DSA) เพื่อควบคุมธุรกิจบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ สื่อโซเชียล ตลาดออนไลน์ และบริการออนไลน์อื่นๆ ในอียู ให้ปลอดภัย มีความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ และร่างกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act (DMA) เพื่อป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์ ปกป้องผู้บริโภค ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของประชาชนอียู
กฎหมาย DSA มุ่งบังคับให้บริษัทเทคโนโลยี เช่น ผู้ให้บริการเว็บโฮสติง โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ และเว็บไซต์โปรแกรมค้น (search engines) มีหน้าที่จัดการกับเนื้อหาและสินค้าที่ผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ และปรับปรุงแนวปฏิบัติการตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ (Moderation practices)ของตนให้เข้มงวดขึ้น โดยมีรัฐบาลของประเทศสมาชิกเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่กฎหมาย DMA จะมีหน้าที่ในการควบคุมบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ (Gatekeeper) เพื่อป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยอียูได้เสนอให้มีการกำหนดภาระหน้าที่ให้บริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ต้องปฏิบัติตาม และอียูจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย DMA และริเริ่มการตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายเกณฑ์ที่อียูกำหนดความท้าทายของการผ่านร่างกฎหมายดิจิทัล
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนนี้ คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงิน (ECON) และคณะกรรมาธิการด้านตลาดภายในและการคุ้มครองผู้บริโภค (IMCO) สภายุโรป ได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดิจิทัลทั้งสอง โดยเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ
1) บทบาทสำคัญของข้อมูลซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเทียบเท่าสินทรัพย์ (data is asset)
2) การทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่
3) การตรวจสอบการควบซื้อกิจการของบริษัทฯ เพื่อปกป้องการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรม
4) การควบคุมการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย (targeted advertising)
5) การห้ามบริษัทติดตั้งโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นค่าเริ่มต้น
6) การเสนอค่าปรับอย่างน้อย 4% จากรายได้ในทุกประเทศของบริษัทฯ
7) การเสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรปแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กำกับการปฏิบัติงาน หรือ compliance officer ประจำการที่บริษัทบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลแบบ real-time
ภาคเอกชนตื่นตัว เตรียมรับมือกับกฎหมายดิจิทัลใหม่
ภาคเอกชนส่วนมากมีความกังวลเรื่องขอบเขตของกฎหมาย อาทิ เกณฑ์ของรายได้ต่อปีและ/หรือคำนิยามของจำนวนผู้ใช้บริการของบริษัท (active users)
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี รวมถึง บริษัท Booking และบริษัท Zalando ได้ร่วมลงนามในจดหมายถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอียู เรียกร้องให้มีการพิจารณาคำจำกัดความของคำว่า “Gatekeeper” ใหม่ในการประชุมคณะมนตรียุโรป
เนื่องจากสำหรับธุรกิจตลาดออนไลน์ ลูกค้าที่เข้ามาเลือกชมสินค้า/บริการบนแพลตฟอร์ม (visitors) สุดท้ายแล้วไม่ได้ซื้อสินค้า/บริการทุกราย หากร่างกฎหมาย DMA ใช้เกณฑ์จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมตามข้อเสนอเดิม ก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ต่างๆ
อีกประเด็นที่ได้รับความสนใจจากธุรกิจรายย่อยและกลุ่มพันธมิตร SME ในยุโรป ได้แก่ การห้ามบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ติดตั้งโปรแกรมของตนเป็นค่าเริ่มต้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ อาทิ บริษัท DuckDuckGo ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลเช่นเดียวกับ Google Search แย้งว่า ผู้ใช้บริการเว็บเบราว์เซอร์ Chrome ควรมีสิทธิ์ในการเลือกที่ใช้บริการค้นหาข้อมูลจากบริษัทอื่นนอกจาก Google Search
ฝรั่งเศสเตรียมดันกฎหมายดิจิทัลภายในครึ่งปีแรกของ 2565
ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการด้านตลาดภายในฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย DMA และมีกำหนดประชุมเพื่อลงมติสำหรับร่างกฎหมาย DSA ในวันที่ 9 ธ.ค. นี้ ซึ่งลำดับต่อไปของการผ่านร่างกฎหมายดิจิทัล คือ การลงมติเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของสภายุโรปในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการลงมติใหญ่อาจถูกเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ยังเจรจาหาข้อสรุปไม่ได้ โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 ตามความตั้งใจของฝรั่งเศส ซึ่งมีกำหนดรับตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปในช่วง ม.ค.-มิ.ย.65 นี้
นอกจากนี้ อียูได้เผยแพร่ร่างกฎหมายด้านความโปร่งใสและการกำหนดเป้าหมายของโฆษณาทางการเมืองสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นี้ ภายใต้โครงการ European Democracy เพื่อปกป้องการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับอียูในการควบคุมการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายควบคู่กับกฎหมาย DSA และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของอียู สะท้อนการทำงานแบบบูรณาการแนวราบของอียูอีกด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564