ผวา โอไมครอน เอฟเฟ็กต์ ธุรกิจหวั่นรัฐสั่งล็อกดาวน์

ภาคธุรกิจจับตา “โอไมครอน” รัฐบาลขอ 2 สัปดาห์ทบทวนมาตรการเปิดประเทศ พบคนไทยติดเชื้อจ่อล็อกดาวน์ทันที สั่งเช็กยิบระดับความรุนแรง-กระจายเชื้อเทียบ “เดลต้า” กกร.-กนง.เตรียมประชุมประเมินตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่ แบงก์-สื่อสาร-ร้านอาหาร-ส่งออก เกาะติดสถานการณ์ ประสานเสียงขออย่ากลับมาปิดเมืองอีก ด้านไซต์ก่อสร้างตั้งการ์ดสูง คุมเข้ม
 
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน (Omicron)” เริ่มจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา และแพร่ระบาดเข้าไปในยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สร้างความกังวลทุกภาคส่วน
 
ล่าสุดในการประชุม ครม.วันที่ 30 พ.ย. 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีโอไมครอน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินมาตรการเปิดประเทศอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขและรักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ครม.ได้มีมติให้ “ยกเลิก” 
 
มติ ศบค.ที่กำหนดให้ยกเลิกการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2564 และให้กลับมาตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตามเดิม และให้รอจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมเพราะ “ขณะนี้ข้อมูลยังไม่ 100% เพียงแต่มีความกังวล”
ส่วนการเปิดสถานบันเทิงที่จะเลื่อนเปิดเป็นวันที่ 16 ม.ค. 2565 นั้น ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น และปฏิบัติตามมาตรการ DMHHTA เป็นหลัก
 
“นายกฯได้สั่งการให้ตรวจเชื้อโอไมครอนเข้มข้นมากขึ้นทุกช่องทางแต่สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดก็คือ การเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ”
 
เมื่อถามว่า หากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย จะต้องล็อกดาวน์หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า “เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี เมื่อเจอเชื้อต้องรายงานทันที เป็นมาตรการของนายกฯต้องเร็วที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจเลย”
 
กกร.ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ :
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการประชุม ทบทวนตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องรอประเมินสถานการณ์“โอไมครอน” ซึ่งผลการศึกษายังไม่ได้ออกมาชัดเจน
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” มาก อยากให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่ชัดเจน เท่าที่ทราบระบุว่ามีการแพร่กระจายง่าย แต่ความรุนแรงน้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างวางมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะบับเบิลแอนด์ซีล
 
ส่วน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ยังรอความชัดเจนเรื่องความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ คาดว่า 5-10 วัน ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทย-แอฟริกานั้น “ไม่น่าแตกต่างไปจากเดิม” เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่สะดวกเท่าไรนัก ไทยอาจขาดโอกาสที่นักธุรกิจชาวแอฟริกันจะเข้ามาสั่งซื้อสินค้าในประเทศเท่านั้น
 
กรรมการนโยบายการเงินประเมินใหม่ :
 
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบโอไมครอนยังเห็นไม่ชัดเจน และ WHO ก็ยังต้องการเวลาในแง่ผลกระทบว่ามีความรุนแรงมากน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างไร คาดว่าจะมีการประเมินเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน
 
“เศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวได้ 0.7% หรือมากกว่าเล็กน้อย โดยโอไมครอนเริ่มรู้สึกถึงผลต่อเศรษฐกิจได้ในปี 2565”
 
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงรายงานการประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า จะขยายตัว 1.5% และปี 2565 จะขยายตัว 4.2% ภายใต้สมมุติฐานกรณี base case การเปิดเมืองไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นนับจากปลายไตรมาส 2/2565
 
แบงก์เกาะติดใกล้ชิด :
 
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ได้ปรับแผน แต่ธนาคารได้มีการศึกษาและติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถรู้สถานการณ์ได้ทันท่วงที
 
ประกันหวั่นรับมือไม่ไหว :
 
ด้าน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า แผนเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสำหรับภาคธุรกิจประกันวินาศภัย “คงเป็นไปได้ยาก” โดยเฉพาะบริษัทที่ขายประกันภัยโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ”
 
เพราะถ้ายอดผู้ติดเชื้อมากก็จะกระทบความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น กล่าวคือโอกาสการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้า และติดเชื้อง่ายกว่า แม้ความรุนแรงอาจจะยังไม่ชัดเจน ฉะนั้นจะเป็นผลต่อกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบโดยตรง ซึ่งจะยิ่งอันตรายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
 
บริษัทที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบไม่น่าจะรอด เพราะจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ประเด็นที่น่าห่วงคือ ถ้าปกติจะมีคนติดเชื้อวันละ 20,000 ราย (ช่วงพีก) แต่การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งแตะวันละ 40,000-50,000 รายก็ได้
 
ธุรกิจสื่อสารยังไม่กระทบ :
 
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน “อาจจะไม่กระทบจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศปิดประเทศ”
เพราะปัจจุบันการบริหารจัดการ แผนการฉีดวัคซีน และมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย ยังอยู่ในระดับที่เข้มข้น ประกอบกับเทคโนโลยีด้านการรักษา การผลิตยาของทั่วโลกทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการมาแล้ว ดังนั้นแนวทางการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่นี้ก็น่าจะทำได้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม หากเกิดสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือ “ต้องประกาศปิดประเทศ” ก็เชื่อว่าจะเป็นแค่ระยะสั้น ๆ ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจช้า แต่ไม่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะงักเหมือนการระบาดรอบก่อน ๆ ขณะเดียวกันในส่วนธุรกิจสื่อสารเบื้องต้นจะไม่ได้รับผลกระทบ
 
เนื่องจากการเปิดประเทศก็เพิ่งเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการนำตัวเลขจากนักท่องเที่ยวเข้ามารวมในผลประกอบการปีนี้ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในเดือนธันวาคมก็มีไม่มาก
 
เซ็นกรุ๊ปกลัวเหมือนเดลต้า :
 
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มแพร่การระบาดในแอฟริกา-ยุโรป และตอนนี้ยอมรับว่า มีผลในแง่จิตวิทยาของความรู้สึกผู้คนเริ่มกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น
 
ขณะที่ประเทศไทยเองก็เพิ่งเปิดเมือง-เปิดธุรกิจมาได้ 2-3 เดือน หากสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาแล้วเกิดกรณีเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ติดง่ายและมีความรุนแรงถึงการเสียชีวิต ดังนั้นจึงมองว่า ผลกระทบดังกล่าวไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ยังมีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่ติดตามและควบคุมโรคระบาดรวมไปถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น
 
ส่วน “เซ็น คอร์ปอเรชั่น” ได้เตรียมแผนรับมือมาต่อเนื่อง โดยโครงสร้างกลุ่มเซ็นฯวันนี้ “เราปรับตัวมาตลอด” แต่ยังไม่สามารถรับมือได้เต็มรูปแบบ ถ้าเกิดการล็อกดาวน์ปิดศูนย์การค้าเหมือนที่ผ่านมายอมรับว่า ได้รับผลกระทบ
เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากธุรกิจร้านอาหารประเภทนั่งทานมีราว ๆ 70% แม้อีก 30% จะปรับตัวมาทำออมนิแชนเนล ดีลิเวอรี่ อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจรีเทล แต่รายได้ที่มาจากธุรกิจกลุ่มนี้ไม่สามารถชดเชยรายได้ให้กับร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์ได้ จึงต้องเตรียมบริหารความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
 
หากเกิดกรณีล็อกดาวน์ ต้องเปลี่ยนโหมดบริหารเป็น positive อาศัยการควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ ให้นิ่ง เพื่อประคองธุรกิจในช่วงวิกฤตให้อยู่รอดไปได้
 
ไซต์ก่อสร้างตั้งการ์ดสูง :
 
ด้านการก่อสร้างโครงการอาคารชุดต่าง ๆ ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากนั้น นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไซต์ก่อสร้างของพรีบิลท์ยังคงดำเนินการตามมาตรการ bubble and seal พร้อมกับตรวจ ATK ทุกสัปดาห์สำหรับคนงานใหม่
 
ส่วนคนงานที่ทำงานมาสักพักความถี่ในการตรวจทุก 2 สัปดาห์ การรับคนงานใหม่มีการตรวจหาเชื้อโควิดและกักตัว 14 วันก่อนเริ่มงาน วิธีการจัดการแบบนี้ทำทั้งคนงานของพรีบิลท์และคนงานของซับคอนแทร็กเตอร์ มีต้นทุนตรวจคัดกรองโควิดประมาณ 1 ล้านบาท/เดือน แต่ไม่ถึง 1% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นบริษัทยังรับภาระได้ดีกว่ามีการพบคลัสเตอร์โควิดในแคมป์ก่อสร้าง
 
ส่วน ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทยและประธานกรรมการ บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไซต์ก่อสร้างของรีชี่เพลซฯปฏิบัติตามมาตรการ bubble and seal มีการตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
 
ส่วนโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่หลายคนเป็นกังวลว่า จะทำให้เกิดคลัสเตอร์ไซต์ก่อสร้างนั้น มองว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ถ้าติดคนไทยน่าจะมาจากการเดินทางเข้ามาในประเทศมากกว่า คงไม่ได้มาจากคนพื้นถิ่น เช่น คนงานกัมพูชาหรือคนงานพม่าและคนงานก่อสร้างกับคนแอฟริกาก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วย
 
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากมีสถานการณ์โควิดโอไมครอนระลอกใหม่ในประเทศเข้ามาอีก จะส่งผลกระทบให้การลงทุนหยุดชะงัก คาดว่าต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปียอดผู้ติดเชื้อจึงจะลดลง ส่วนการรับมือโอไมครอนของภาคอสังหาฯ หากมีการแพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้าง อยากให้ภาครัฐโฟกัสการควบคุมเป็นจุด ๆ ไป อย่าสั่งปิดหรือล็อกดาวน์ทั้งหมดในภาพรวม เพราะจะทำให้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหายเป็นวงกว้าง
 
หวังรัฐเปิดเมืองรับลงทุน :
 
ด้านบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก มีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัทยังคงดำเนินการผลิตตามปกติ ยังไม่ได้เสริมมาตรการพิเศษมาเพื่อรองรับ แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการคัดกรองและป้องกันภายในโรงงานอย่างเข้มงวด
 
ส่วนของค่ายรถยนต์ที่เตรียมรับมือกับการระบาดของโอไมครอนนั้น ปรากฏทั้งค่ายมาสด้าและค่ายซูซูกิมอเตอร์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมให้พนักงานฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทุกคน แต่ในส่วนของบริษัทแม่ของทั้ง 2 ค่าย “ยังไม่มีนโยบายออกมาชัดเจน”
 
ยอมถอยเพื่อประเมินสถานการณ์ :
 
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในหลาย ๆ ประเทศได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยไปแล้ว “ไม่มีใครกล้าเสี่ยง” ทุกประเทศออกมาประกาศห้ามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าประเทศ
 
“เข้าใจว่า การทบทวนมาตรการของ ศบค.ที่จะให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR แล้วให้ใช้การตรวจ ATK แทนสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม test & go (กักตัว 1 คืน) เมื่อ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยยังคงใช้การตรวจแบบ RT-PCR ต่อไปนั้น อาจส่งผลกระทบบ้าง การกลับไปใช้ RT-PCR จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้คนไทยปลอดภัย และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปลอดภัยด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์สัก 14 วันเช่นกัน” นายศิริปกรณ์กล่าว
 
เช่นเดียวกับนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่ประเทศยังคงมาตรการการตรวจ RT-PCR เหมือนเดิมไว้ ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนควรต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดและความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนสักประมาณ 15-21 วัน หากไม่รุนแรงก็อยากเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการตรวจ RT-PCR และใช้ ATK ตามมติเดิมของ ศบค.เหมือนเดิม
 
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของรัฐบาลก็คือ ความไม่ชัดเจนของมาตรการและมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการแบบรายสัปดาห์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความสับสนในมาตรการการเข้าเมืองของประเทศไทย กระทั่งกลายเป็นอุปสรรคของการเข้าเมือง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)