“โอไมครอน” ฉุดน้ำมันลงชั่วคราว ภาคผลิต-ส่งออกเตรียมรับมือขาขึ้นอีกระลอก
ราคานํ้ามันที่ทะยานสูงขึ้นทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งและต้นทุนภาคการผลิตและส่งออกปรับตัวสูงขึ้น สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐทำทุกวิถีทางเพื่อตรึงราคานํ้ามันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการในเดือน ธ.ค. 2564 - มี.ค. 2565 ประเด็นสำคัญคือการปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลในนํ้ามันดีเซลหมุนเร็วจาก 3 สัดส่วน(B7, B10, B20) เหลือสัดส่วนผสมเดียวคือร้อยละ 7 (B7) ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันราคา B7 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 28 บาทต่อลิตรลดแรงกดดันได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ชาวสวนปาล์มได้เตรียมออกมาเคลื่อนไหว จากการปรับลดนํ้ามันดีเซลเหลือแค่ B7 สูตรเดียวจะส่งผลให้มีการใช้นํ้ามันปาล์ม B100 เป็นส่วนผสมในนํ้ามันดีเซลลดลง และจะส่งผลถึงราคาปาล์มที่เกษตรกรขายได้จะตกตํ่าลงอีกครั้ง ขณะที่ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากราคานํ้ามันแพงในครั้งนี้
รง.แปรรูปอาหารต้นทุนพุ่ง :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบนํ้ามันแพงต่อผู้ประกอบการอาหารในครั้งนี้ยังไม่ถึงขั้นปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะการขนส่งวัตถุดิบหรือสินค้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง บริษัทผู้ผลิต/โรงงานแปรรูปที่มีรถขนส่งเอง และมีสัญญากับเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบป้อน หากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้กับโรงงานก็ไม่กระทบมาก ต้นทุนอาจปรับขึ้นเล็กน้อย
กรณีที่สอง โรงงานแปรรูปใช้บริการจากผู้ให้บริการขนส่ง ส่วนใหญ่จะทำสัญญาค่าบริการโดยยืดหยุ่นตามการปรับราคาของนํ้ามันดีเซล ตัวอย่างข้อตกลงของบางบริษัท เช่น กรณีราคานํ้ามันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร อัตราค่าขนส่งจะปรับขึ้นคราวละ 10% เมื่อราคานํ้ามันปรับขึ้น 2 บาทต่อลิตร แต่หากราคานํ้ามันเกิน 30 บาทต่อลิตรขึ้นไป ค่าขนส่งจะปรับขึ้นคราวละ 20% เมื่อราคานํ้ามันขึ้นอีก 2 บาทต่อลิตร
สำหรับโครงสร้างของค่าขนส่งต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอาหาร รวมถึงสินค้าอื่น ๆ จะแตกต่างกันไป แต่ภาพรวมคิดเป็นต้นทุน 5-15% ขึ้นกับราคาสินค้าและระยะทางการขนส่ง รวมถึงยอดขายในแต่ละเดือน โดยค่าขนส่งจะแฝงอยู่ในต้นทุนวัตถุดิบ ส่วนผสม บรรจุภัณฑ์ และฉลาก ซึ่งเมื่อมีการปรับราคานํ้ามัน เกษตรกรและซัพพลายเออร์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
เกินลิตร 30 บาทขอปรับราคาสินค้า :
“ภาพรวมราคานํ้ามันดีเซลในประเทศถ้าไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรยังไม่กระทบมาก และระดับราคาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับตํ่ากว่า 30 บาทต่อลิตร แต่สำหรับสินค้าส่งออกต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับขึ้นของราคานํ้ามัน การตั้งรับของผู้ประกอบการ หากราคานํ้ามันปรับขึ้นเกิน 30 บาท ในระยะสั้นคือ การตรึงราคา และลดต้นทุนด้านอื่น ๆ ลง เนื่องจากราคาขายสินค้าส่งออกจะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำให้การปรับราคาสินค้าที่ตกลงไปแล้วทำได้ยาก แต่ระยะยาว หากแบกภาระไม่ไหวก็คงต้องขอปรับขึ้นราคาขาย”
นอกจากนี้บริษัทส่วนใหญ่มีแผนตั้งรับสถานการณ์ไว้ตลอด ถึงแม้ราคานํ้ามันจะไม่ปรับขึ้น เช่น การวางแผนบริหารรอบการขนส่งให้น้อยลง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ประหยัดพื้นที่เพื่อให้ปริมาณขนส่งต่อเที่ยวได้มากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนการขนส่ง
“โอไมครอน”ฉุดราคาลงชั่วคราว :
เวลานี้ราคานํ้ามันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากที่สหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักรได้เตรียมปล่อยนํ้ามันสำรองออกสู่ตลาดเพื่อดึงราคานํ้ามันให้ตํ่าลง รวมถึงล่าสุดผลพวงจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา และเริ่มแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งราคานํ้ามันที่ลดลงนี้มองเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เพราะตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกช่วงขาขึ้น และเข้าช่วงฤดูหนาว การใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้น
“ราคานํ้ามันคงผันผวนไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หรือองค์การอนามัยโลกออกมายืนยันว่าโควิคสายพันธุ์ใหม่แม้จะติดต่อกันง่าย ติดต่อเร็ว แต่ไม่รุนแรง รักษาได้ง่าย ก็จะทำให้ผ่อนคลาย พอถึงจังหวะนั้นราคานํ้ามันอาจจะเด้งกลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่มั่นใจว่าคงไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเหมือนในอดีต เพราะหากราคาปรับสูงขึ้นมาก ประเทศผู้ใช้นํ้ามันรายใหญ่คงมีวิธีสร้างความสมดุลเพื่อคานอำนาจกลุ่มโอเปกพลัสได้”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 ธันวาคม 2564