จับเทรนด์ "โรงแรมที่พัก" ยุคโควิด เติมฟีเจอร์ใหม่มัดใจทัวริสต์
เป็นเวลา 1 เดือนหลังจากรัฐบาลไทยดำเนินนโยบาย “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” กระตุ้นเครื่องยนต์ “ภาคท่องเที่ยว” ซึ่งเคยสร้างรายได้เกือบ 3 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วน 18% ของจีดีพีให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ร่วม 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอน
โดยเฉพาะ “อุปสรรคใหม่” การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน”
ในงานสัมมนาออนไลน์เจาะลึกทางรอดประเทศไทยด้วยภาคธุรกิจบริการ “LINE Hospitality Tech 2021: The Next in The New Era ท่องเที่ยว สุขภาพ พลิกฟื้นประเทศไทย” จัดโดย ไลน์ ประเทศไทย เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เหล่ากูรูท่องเที่ยวชั้นนำได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มของภาคท่องเที่ยวไทย รวมถึงหนทางการปรับตัวฝ่าวิกฤตินี้ภายใต้หัวข้อ “The Next Direction of Thailand Tourism”
ไพสิฐ แก่นจันทน์ ผู้ก่อตั้งและให้คำปรึกษาหลัก บริษัท ฮอสพิแทลลิที่ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ในวงการมากว่า 18 ปี กล่าวว่า เมื่อการเดินทาง พักผ่อน และการทำงาน ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนอีกต่อไป! ทำให้โรงแรมหลายๆ โครงการซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างที่บริษัทฯได้ให้คำปรึกษา มีการ “เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ” เข้าไปภายในห้องพัก รองรับความต้องการที่แปลกใหม่จากเดิม
เช่น มุมทำงาน เพราะต้องติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวผ่านช่องทางออนไลน์ จึงต้องคำนึงถึงรายละเอียดอย่างแบ็คกราวนด์ในวิดีโอและแสงภายในห้อง รวมถึงพื้นที่สำหรับปรุงอาหาร ต่างจากก่อนหน้านี้ที่โรงแรมต่างๆ มักเลือกที่จะไม่มีห้องครัวสำหรับให้แขกได้ทำอาหารเนื่องจากมีต้นทุนสูง ทำให้ห้องพักโรงแรมในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 ต้อง “ทำหน้าที่หลายอย่าง” มากขึ้น!!
“พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โรงแรมจะต้องพยายามทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยโรงแรมเก่าอาจจะต้องปรับตัว ส่วนโรงแรมที่กำลังจะสร้างใหม่ คงต้องคิดเรื่องความต้องการของผู้ใช้งานที่แท้จริงหลังเกิดโควิด”
สำหรับเทรนด์ความต้องการในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้รวมถึงตอนนี้ด้วย นักท่องเที่ยวจะมองหาโรงแรมที่มีขนาดเล็กลง รู้สึกกลัว
โรงแรมใหญ่ขนาด 300-500 ห้องพัก เพราะอาจจะกังวลประเด็นสุขอนามัย หรือการมีผู้คนในโรงแรมจำนวนมาก และปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้ พวกเขาจะเลือกโรงแรมที่มีจำนวนห้องน้อยกว่า และเชื่อถือโรงแรมที่ได้มาตรฐานเรื่องสุขอนามัย หันไปหาแบรนด์ที่ตัวเองมั่นใจ
ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวอาจจะหลีกเลี่ยงการใช้บริการ “โฮสเทล” มากขึ้น เนื่องจากโฮสเทลเป็นที่พักที่มีผู้ใช้บริการร่วมกันจำนวนมาก การควบคุมด้านสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องยาก นักเดินทางทั่วไปจะเปลี่ยนไปมองหาดีลดีๆ จากโรงแรมมากกว่า เห็นได้จากในโซเชียลมีเดียขณะนี้ทุกโรงแรมต่างมีโปรโมชั่นดีๆ มานำเสนอมากมาย นี่คือเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้!
ด้าน ทิโมธี ฮิวจ์ส รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กร อโกด้า (Agoda) กล่าวว่า เห็นด้วยว่าพฤติกรรมหลายๆ อย่างของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่ยังเชื่อว่าเงื่อนไขการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนหลายๆ ข้อยังคงเหมือนเดิม เราจะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวที่กลับมาในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่อยากมา “พักผ่อน” จริงๆ ด้วยการนั่งจิบค็อกเทลริมสระว่ายน้ำ หรือเหม่อมองทะเล
“แม้ว่ามนุษย์เราจะมีความต้องการที่อยากลองหรือค้นหาอะไรใหม่ๆ และมุมมองต่อ Work-Life Balance ก็เปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อยากกลับไปเที่ยวเพื่อพักผ่อนจริงๆ จึงมองหาคุณภาพในการบริการ ทางอโกด้าจึงเห็นข้อมูลว่านักเดินทางเลือกโรงแรมที่มีระดับดาวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงแรมระดับ 5 ดาวมีราคาถูกลงด้วยในช่วงนี้ แต่อีกส่วนก็คือนักท่องเที่ยวอยากจะไปพักผ่อน โดยเรื่องใหญ่ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการ นอกเหนือจากความปลอดภัยแล้วก็คือ “ความยืดหยุ่น” ที่สามารถยกเลิกหรือเลื่อนการจองห้องพักได้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน”
และเมื่อไรก็ตามที่มีการผ่อนปรนข้อกำหนดอำนวยให้เดินทางได้สะดวกขึ้น หรือมียอดผู้ติดเชื้อลดลง จะเห็นได้ว่าผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งในทันที แต่ถ้ามีมาตรการเข้มงวด ผู้คนก็หยุดเดินทางไปด้วย
“ที่แน่ๆ ทุกคนพร้อมจะออกไปเที่ยวมากๆ ผมเห็นด้วยว่าบางคนหันไปเลือกโรงแรมขนาดเล็กลงและสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ บางคนเลือกพักวิลล่าส่วนตัว บางคนเลือกพักโรงแรม 5 ดาวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยตลาดนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น คนกลุ่มนี้นั่งกอดเงินมา 1 ปีครึ่ง โดยไม่มีโอกาสได้ใช้จ่ายเลย คนพวกนี้พร้อมจะใช้เงินมากๆ เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงไทย จะจับจ่ายใช้สอยอย่างเพลิดเพลิน เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมาเที่ยวได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย”
บริพัตร หลุยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแตนดาร์ดเอเชีย จำกัด กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนในรายละเอียดเพื่อรองรับสถานการณ์ใหม่ๆ ต้องมีแน่นอน แต่สำหรับโครงสร้างทางกายภาพของโรงแรม เชื่อว่าจะไม่แตกต่างไปจากเดิมมาก แน่นอนว่าเรามีมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่รัดกุม แต่สุดท้ายแล้วความต้องการหลักๆ ของนักเดินทางยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก
เมื่อการท่องเที่ยวกลับมา ผู้คนจะกลับมาเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและทำธุรกิจ ยังมองหาสถานที่ที่ให้บริการได้ดี พวกเขาจะยังมองหาร้านดีๆ เพื่อไปทานอาหาร ออกไปพบปะผู้คน ดังนั้นลักษณะทางกายภาพของโรงแรมยังต้องตอบโจทย์เดิมๆ อยู่ แต่เชื่อว่าการบริการและการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมจะเปลี่ยนไปแน่นอน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 ธันวาคม 2564