ปิดประเทศชั่วคราว ลดความเสียหาย

นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ศบค. เร่งด่วน หารือกรณีโควิด "โอมิครอน" ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เบื้องต้นมีมติระงับการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่อนุญาตลงทะเบียนเพิ่มจนกว่าจะประเมินในวันที่ 4 ม.ค. 2565 พร้อมยกเลิกมาตรการ "เทสต์ แอนด์ โก"
 
ช่วงบ่ายวันที่ 21 ธ.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรียกประชุมด่วนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
 
เป็นการตอบสนองปัญหาโควิดที่ค่อนข้างรวดเร็วกว่าทุกๆ ครั้ง จากเดิมที่ ศบค.ชุดใหญ่ มักจะรอวันศุกร์ เป็นความเคลื่อนไหวหลังจากอัตราการติดเชื้อของโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการติดเชื้อภายในประเทศ สะท้อนว่าปัญหาโอมิครอนรุนแรง
ช่วงเช้าวันเดียวกัน ศบค.แถลงสถานการณ์โควิดประจำวัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,399 ราย เสียชีวิต 32 ราย เป็นภาพรวมที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 
 
หากเจาะจงเฉพาะ "โอมิครอน" ผลยืนยัน ณ วันที่ 20 ธ.ค. พบมีผู้ติดเชื้อ 63 คน และจากการตรวจผู้เดินทางจากต่างประเทศล่าสุดติดเชื้อโควิดรวม 97 คน อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนกี่ราย
 
สอดคล้องกับการแพร่ระบาดในต่างประเทศที่พุ่งสูงนำหน้าไปก่อน ทำให้บางประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไปจนถึงกลางเดือน ม.ค.2565 ขณะที่อังกฤษ เยอรมัน และอีกหลายประเทศใช้วิธียกระดับคุมเข้มตามสถานการณ์แพร่ระบาด
 
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง
 
ผลการประชุม ศบค. เร่งด่วนในครั้งนี้ มีมติระงับการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ไม่อนุญาตลงทะเบียนเพิ่ม จนกว่าจะประชุมประเมิน ณ วันที่ 4 ม.ค. 2565 ระหว่างนี้ให้ยกเลิกมาตรการแบบเทสต์ แอนด์ โก ไปใช้มาตรการกักตัว 7 วัน มีผลทันทีจนถึง 4 ม.ค.2565
 
โดยข้อมูลนักท่องเที่ยวปัจจุบัน มีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย 1.1 แสนคน ผ่านช่องทางแซนด์บ็อกซ์และเทสต์ แอนด์ โก จากที่มีการขออนุมัติเข้าประเทศไว้แล้ว 2 แสนคน เหลือคนที่จะเข้ามาอีก 9 หมื่นคน ในส่วนนี้มีความจำเป็นต้องดูแลติดตาม
การดำเนินการที่รวดร็ว กระชับ และมีผลบังคับทันทีในครั้งนี้ นับเป็นแนวทางสกัดการแพร่ระบาดในเบื้องต้นตามอาการของโรค เพราะเมื่อพิจารณาระยะเวลาการกักตัวกำหนด 7 วัน อาจจะยังไม่พอ อาจจะยังตรวจไม่พบเชื้อ
 
แต่ถ้ากักตัวให้มากกว่า 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วัน เกรงผลกระทบในทุกมิติ ต้องรอการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ลดผลกระทบในการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
 
เราเห็นว่า หากจะเพิ่มเติมมาตรการเสริมอื่นๆ ศบค. อาจจะรอประเมินควบคู่กับระดับการแพร่ระบาด และแก้ไขไปเป็นลำดับ ภายใต้หลักการด้านสาธารณสุข การปิดประเทศชั่วคราวในครั้งนี้ จะช่วยลดความสูญเสีย อย่างน้อยชะลอความเสียหาย
เรายังเห็นด้วยกับการตอบสนองต่อปัญหาที่เด็ดขาดทันท่วงที เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายเดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าข้างหน้าจะต้องเผชิญกับ "โอมิครอน" หนักหน่วงขนาดไหน เพียงแต่หากอยู่เฉย มีแต่จะเสียหาย การตัดไฟแต่ต้นลมจึงเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 
วันที่ 22 ธันวาคม 2564 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)