ลุ้นวัคซีนใหม่กองทัพสหรัฐสู้ไวรัสได้ทุกสายพันธุ์
สถาบันวิจัยของกองทัพสหรัฐ เตรียมประกาศความสำเร็จในการพัฒนาซูเปอร์วัคซีน ที่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง(ซาร์ส)
เว็บไซต์ Defense One รายงานว่า กองอำนวยการสถาบันวิจัยกองทัพบกวอลเตอร์รีด (WRAIR) ที่มีฐานอยู่ในรัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐ เตรียมเปิดตัววัคซีน “สไปค์ เฟอร์ริทิน นาโนพาร์ทิเคิล” (Spike Ferritin Nanoparticle) หรือ SpFN ที่ใช้เวลาพัฒนาเกือบ 2 ปี และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันไวรัสทุกชนิดที่มีอยู่และไวรัสกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโคโรนาที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 หรือโรคซาร์ส
กองทัพเริ่มพัฒนาวัคซีน SpFN เมื่อต้นปี 2563 ส่วนกำหนดการเปิดตัวขั้นสุดท้าย จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อกองทัพส่งผลทดสอบไปให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีน SpFN เป็นแบบโดสเดียวหรือหลายโดส
ส่วนจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคือการสร้างวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสที่มีอยู่ทุกสายพันธุ์ และไวรัสที่มีศักยภาพในการกลายพันธุ์ และได้ทดสอบกับสัตว์ไปแล้วเมื่อต้นปีจนได้ผลที่น่าพอใจ ก่อนทดสอบกับมนุษย์ในเฟส 1 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
“ดร.เคย์ มอดจาร์รัด” ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อของวอลเตอร์รีด ยืนยันกับ Defense One ว่าการทดสอบกับมนุษย์เฟส 1 เมื่อต้นเดือน ประสบความสำเร็จทั้งต่อสายพันธุ์โอมิครอนและไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ เพราะนอกจากจะสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งแล้ว ยังป้องกันในวงกว้างต่อไวรัสโควิดและซาร์สได้หลายสายพันธุ์ด้วย
นี่ถือเป็นข่าวดีล่าสุด ในขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนกำลังระบาดทั่วประเทศสหรัฐ หลังจากถูกพบครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ก่อนจะครองสัดส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ 73% ของประเทศ แต่ครองสัดส่วน 90% ในบางรัฐ เช่น นิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ และพบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เป็นคนแรกที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส โดยเป็นผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว ก่อนจะกลับมาติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตในที่สุด
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานโดยรวบรวมความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงทั่วสหรัฐ จนทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากมาย แต่ในเรื่องร้ายก็อาจมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะไวรัสสายพันธุ์เดียวกันนี้ก็อาจทำให้วิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลงเร็วขึ้น
นักวิจัยบางราย ระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนอาจทำให้การระบาดหนักทั่วโลกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แม้อาจจะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า การที่สายพันธุ์โอมิครอนระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น และเป็นภัยต่อผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนหรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นนั้น จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งแม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแต่ก็มีผู้ที่รักษาจนหายเป็นจำนวนมากกว่า ซึ่งคนที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเพื่อปกป้องไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ในอนาคต
แต่แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น โดยประเมินจากลักษณะทั่วไปของไวรัสส่วนใหญ่ ขณะที่ไวรัสโควิด-19 เองก็กลายพันธุ์อย่างไม่คาดคิดมาแล้วหลายครั้งตลอดช่วงการแพร่ระบาด
ส่วนในรัฐแคลิฟอร์เนีย เตรียมบังคับใช้มาตรการให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ซึ่งมีคนรวมตัวกันแออัดและมีความเสี่ยงสูง ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อป้องกันโควิด-19 ก่อนวันที่ 1 ก.พ.ปีหน้า ตามแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน
“เกวิน นิวซัม” ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า “เราทราบดีว่า การฉีดวัคซีนให้ครบโดสยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ และเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือการขยายมาตรการนี้ให้ครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน”
มาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ออกคำสั่งให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีดวัคซีนครบทุกโดสไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.
ส่วนเจ้าหน้าที่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 สัปดาห์ละสองครั้งไปจนกว่าจะถึงวันที่ 1 ก.พ. โดยสามารถขอยกเว้นได้ด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือสุขภาพ
นิวซัม บอกด้วยว่า แม้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจะมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐ แต่สถานการณ์ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 ธันวาคม 2564