หนังสือ “บันทึกนักการทูต” คมกริช วรคามิน

ผมได้รับหนังสือ ‘บันทึกนักการทูต’ ซึ่งเขียนโดยท่านคมกริช วรคามิน อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย หนังสือหนา 279 หน้า ท่านเล่าตั้งแต่สมัยเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบเข้าทำงานกระทรวงการต่างประเทศ ไปเรียนต่อ ที่ฮาวาย แล้วก็มาเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะเวียดนามที่กองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมการเมือง จากนั้นออกไปเป็นเลขานุการตรีที่สถานทูตไทยประจำกรุงฮานอยเมื่อปลาย พ.ศ.2528 ซึ่งในช่วงนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปเศรษฐกิจเน้นแบบตลาดที่เรียกว่าโด๋ยเหม่ย
 
 
ผมอ่านหนังสือบันทึกนักการทูตทุกบท การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยสาระ เหมาะสำหรับผู้สนใจการเมืองระหว่างประเทศ และเยาวชนที่ตั้งใจจะทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ หรือแม้แต่คนที่อยากทำงานด้านต่างประเทศประเภทอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางราชการ โดยแท้ที่จริง นักการทูตแต่ละท่านควรเขียนบันทึกลักษณะเดียวกันนี้ตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบความเป็นไปในยุทธศาสตร์และการปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศ จะช่วยให้คนรุ่นหลังไม่ต้องลองผิดลองถูก เอาประสบการณ์ของผู้คนในอดีตมาต่อยอดได้
 
บทที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้เป็นประสบการณ์ระหว่าง พ.ศ.2533-2552 ที่ผู้เขียนเป็นเลขานุการโท-เอก หัวหน้าสำนักงานติดต่อชายแดนไทย-กัมพูชา จนเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาที่สถานทูตไทยในกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เป็นผู้อำนวยการกองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ
 
ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือการกลับไปเป็นนักการทูตที่กรุงฮานอยใน พ.ศ.2552 ซึ่งห่างจากการไปประจำครั้งแรก 24 ปี ผู้เขียนเห็นความแตกต่างและความเจริญของเวียดนามในช่วงไม่ถึง 3 ทศวรรษ ความที่ผู้เขียนเรียนภาษาเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ.2524 ทำให้อ่าน เขียน ฟัง พูดได้พอประมาณ จึงทำให้สามารถเข้าทัศนคติของคนเวียดนามในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
 
พ.ศ.2544 ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม 20 ปี มีงานเฉลิมฉลองหลายระดับ หนึ่งในหลายงานเฉลิมฉลองก็คือ การจัดงานที่หน้าบ้านผมที่ลาดกระบัง สมัยนั้น ผู้คนเวียดนามยังดิ้นรนหาความรู้ ชาวเวียดนามเกินร้อยคนนั่งรถโดยสารเช่าเหมาคันมาจากหลายเมืองของเวียดนามมาร่วมงานที่ลาดกระบัง มาเห็นสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็จดบันทึกลงสมุด
 
ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนพูดถึงการเฉลิมฉลองการครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนามที่พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ในกรุงฮานอย ซึ่งคนเวียดนามให้ความสนใจไม่แพ้งานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ใน พ.ศ.2544 ที่กรุงเทพฯ
 
บทที่ 8 ของหนังสือ ผู้เขียนเล่าถึงการย้ายไปเป็นกงสุลใหญ่ที่นครแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อผมเดินทางไปที่แวนคูเวอร์และได้ฟังบรรยายสรุปที่นั่น จากนั้นผู้เขียนเล่าถึงการไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย ซึ่งเป็นช่วงที่มีความตึงเครียดทางการทหารระหว่างรัสเซียกับอูเครน ตอนนั้น ทหารของรัสเซียเข้าไปที่คาบสมุทรไครเมียที่อยู่ใกล้กับโรมาเนีย
ปกติพวกผมจะได้รับข่าวสารจากซีกของรัสเซียและมองสถานการณ์ในคาบสมุทรไครเมียโดยแว่นของรัสเซีย แต่การอ่านบันทึกนักการทูตเล่มนี้ ทำให้ได้เข้าใจความขัดแย้งในมิติอื่น เพราะโรมาเนียแสดงท่าทีสนับสนุนสหภาพยุโรป นาโต และสหรัฐฯ
 
ผู้เขียนเป็นเอกอัครราชทูตในทวีปยุโรปในช่วงที่มีการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทำให้ได้ทราบถึงความยากลำบากของการทำงานการระหว่างประเทศในขณะที่ประเทศของตนเป็นเผด็จการ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์มีเขตอาณาครอบคลุมถึงสาธารณรัฐบัลแกเรีย ใครอ่านหนังสือบันทึกนักการทูต นอกจากจะมองเห็นภาพโรมาเนียในช่วงที่ไทยมีการรัฐประหารแล้ว ยังมองเห็นภาพของประเทศบัลแกเรียในหลายแง่มุมอีกด้วย
 
โลกแคบลงทุกวัน การต่างประเทศที่แต่เดิมเป็นเรื่องไกลตัว ปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัว แม้แต่เกษตรกรก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องการต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดผลผลิตทางการเกษตรของตัว ถ้าไม่มีความรู้ด้านต่างประเทศ ปลูกพืชพรรณธัญญาหารมั่วๆ ก็ไม่สามารถส่งไปขายในต่างประเทศได้ ขอขอบคุณ ท่านทูตคมกริชที่เขียนบันทึกนักการทูตมาให้สังคมไทยได้รับรู้ครับ (นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย)
 
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 27 ธันวาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)