เวียดนามและTPP – โอกาสมาพร้อมกับการแข่งขัน

เวียดนามเป็นประเทศที่ 4 ของประเทศสมาชิกอาเซียนตามหลังจากบรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซียที่ได้เข้าร่วมข้อตกลง Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้ถูกจับตามองว่าเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากที่สุด และส่งผลให้เวียดนามจะเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย
 
มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีของเวียดนามจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราสูงถึงร้อยละ 10.5 จนถึงปี 2568 และมูลค่าการส่งออกจะสูงกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงขึ้นเกือบ 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณืที่เวียดนามไม่ได้เข้าร่วม TPP
 
นับว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเพื่อนในกลุ่มสมาชิกอาเซียนอีก 6 ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและอินโดนิเซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจก็ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต (Factor Driven) ทั้งสิ้น และล้วนมีเป้าหมายในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและมุ่งส่งออกในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็คทรอนิกส์
 
และเป็นที่จับตามองว่าเวียดนามจะก้าวมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประเทศจีนด้านการผลิตและการเป็นข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหลักของโลกแทนที่ประเทศจีนด้วยซ้ำไป
 
            อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามจะกลับมาเป็นดาวเด่นอีกครั้ง จากมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของวียดนามไปตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 2555 มีมูลค่าราม 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวร้อยละ 34 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐอเมริกา และเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมรองเท้าสูงถึง 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน และการเข้าร่วม TPP ทำให้การภาษีการนำเข้าเป็นศูนย์ในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าของเวียดนามมีจุดแข็งมากยิ่งขึ้น
 
            เมื่อประโยชน์ของการผลิตและการส่งออกจากเวียดนามมีมากมหาศาล นักลงทุนต่างชาติก็ยิ่งสนใจลงทุนในเวียดนามมากยิ่งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ และเวียดนามเองก็มีความพยายามในการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติให้สะดวกยิ่งขึ้นเห็นได้จากนโยบายที่ผ่อนปรนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องและการจัดอันดับ Doing Business โดยธนาคารโลกในปี 2016 เวียดนามขยับดีขึ้นจากลำดับที่ 93 มาสู่ลำดับที่ 90 
 
            ท่ามกลางข่าวดีที่จะเม็ดเงินลงทุนทางตรงไหลเข้าสู่เวียดนามที่เพิ่มมากขึ้น ก็มีข้อกังวลด้านความพร้อมของภาคเอกชนของเวียดนาม เพราะก็ปฏิสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเวียดนามก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนแรงงานสูงถึงร้อยละ 44 อยู่ในภาคการเกษตร ร้อยละ 33 อยู่ในภาคบริการ และร้อยละ 23 อยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม
 
เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับคนเวียดนามในระยะยาว เวียดนามเองจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถและความพร้อมของภาคเอกชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของตนเองให้พร้อมรับการแข่งขันที่จะหลั่งไหลเข้าพร้อมกับโอกาสจากการลงทุนต่างชาติที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
การดี เลียวไพโรจน์ | กรรมการผู้จัดการ C asean | karndee.l@c-asean.org

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)