คิกออฟระบบรับ RCEP หนุนไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษี
กรมการค้าต่างประเทศโชว์ความพร้อมต้อนรับการมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP เริ่มเปิดระบบขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP เพื่อช่วยผู้ส่งออกและสินค้าไทยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีผลักดันการส่งออกให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 6 มกราคม 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 กรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามความตกลง RCEP ยืนยันความพร้อมในการบริการเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบระบบการขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
ระบบการให้บริการออก Form RCEP ที่กรมได้พัฒนาขึ้น เป็นการนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ (Electronic Signature and Seal: ESS) มาพิมพ์ลงบน Form RCEP แทนการลงลายมือชื่อและประทับตราด้วยมือ ช่วยให้สามารถลดระยะเวลารับบริการเหลือเพียงไม่เกิน 10 นาที ต่อฉบับ
นอกจากนี้ ยังใช้รูปแบบการพิมพ์ Form RCEP ลงบนกระดาษ A4 รูปแบบพิเศษที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงและมีการเพิ่ม QR Code เพื่อยืนยันความถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดการตรวจสอบย้อนกลับจากศุลกากรปลายทาง เพื่อให้มั่นใจว่า Form RCEP ดังกล่าวออกโดยกรมการค้าต่างประเทศและมีข้อมูลถูกต้อง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ระบบการให้บริการออก Form RCEP เป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 118 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า การใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Form RCEP จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่มีการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง
โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-พฤศจิกายน) คิดเป็น 2.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.97 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60.7 ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 มกราคม 2565