ผลวิจัยเบื้องต้นอธิบาย ทำไม "โอไมครอน" ถึงรุนแรงน้อยกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น?

บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงเดินหน้าไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโอไมครอนว่า เหตุใดมันจึงรุนแรงน้อยกว่า แต่แพร่เชื้อง่ายกว่า เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ
 
ผลการศึกษาใหม่ในสัตว์ทดลองและเนื้อเยื่อของมนุษย์โดยทีมวิจัยจากที่ต่างๆ ให้ข้อสรุปที่ตรงกันข้อหนึ่ง นั่นคือ โอไมครอนทำให้ปอดเสียหายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ก่อนๆ และนั่นเป็นสาเหตุที่ว่า เหตุใดสายพันธุ์โอไมครอนจึงทำให้โรคมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
 
การศึกษาในหนูและแฮมสเตอร์พบว่า โอไมครอนมักก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก ลำคอ และหลอดลม ด้วยเหตุนี้ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่จึงทำอันตรายต่อปอดน้อยกว่ามาก ในขณะที่สายพันธุ์ก่อนๆ มักทำให้ปอดเสียหาย และทำให้หายใจลำบากอย่างรุนแรง
 
เมื่อครั้งที่มีการรายงานเกี่ยวกับการพบสายพันธุ์โอไมครอนครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดเดาได้เพียงว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากไวรัสสายพันธุ์ก่อนๆ สิ่งที่พอจะทราบในขณะนั้นก็คือ โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมมากกว่า 50 ตำแหน่ง
 
การวิจัยก่อนหน้านั้นแสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์บางส่วนทำให้ไวรัสสามารถจับเซลล์ได้แน่นขึ้น ขณะที่บางส่วนอาจทำให้ไวรัสหลบเลี่ยงแอนติบอดี ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ ดร.รวินทรา กุปตา นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า “คุณไม่สามารถคาดเดาพฤติกรรมของไวรัสได้จากการกลายพันธุ์เท่านั้น”
ตลอดเดือนที่ผ่านมา นักวิจัยมากกว่าสิบคณะ รวมถึงคณะของ ดร.กุปตา ได้เฝ้าสังเกตสายพันธุ์โอไมครอนในห้องแล็บ โดยเริ่มจากการทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสในจานเพาะเชื้อ จากนั้นจึงฉีดไวรัสเข้าไปในจมูกของสัตว์
 
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งศึกษากันอยู่นั้น โอไมครอนได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และแพร่เชื้อแม้กระทั่งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หรือเคยป่วยจากโควิดมาแล้ว
 
แต่ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลับเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่บ่งชี้ว่า โอไมครอนอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่า การค้นพบดังกล่าวมีข้อควรระวังหลายประการ
 
ประการหนึ่งคือ การติดเชื้อโอไมครอนในระยะแรกส่วนใหญ่อยู่ในวงของคนหนุ่มสาว ซึ่งมีโอกาสน้อยกว่าที่จะป่วยหนักจากไวรัสไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน นอกจากนี้ ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนกลุ่มแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการที่เคยป่วยเป็นโควิดมาก่อน หรือจากการได้รับวัคซีนมาแล้ว ขณะที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า โอไมครอนจะออกฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่าด้วยหรือไม่ในผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
 
การทดลองกับสัตว์สามารถช่วยขจัดความคลุมเครือเหล่านี้ได้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์สามารถทดลองโอไมครอนกับสัตว์ชนิดเดียวกันที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันได้ ซึ่งการทดลองมากกว่าห้าการทดลองที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงข้อสรุปเดียวกันคือ โอไมครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา และสายพันธุ์อื่นๆ
 
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันได้เผยแพร่รายงานวิจัยเกี่ยวกับแฮมสเตอร์และหนูที่ติดเชื้อโอไมครอน เทียบกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ โดยผลการศึกษาพบว่า สัตว์ที่ติดเชื้อโอไมครอนนั้น ปอดถูกทำลายน้อยกว่า น้ำหนักลดลงน้อยกว่า และมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า
 
สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้สึกแปลกใจเป็นพิเศษก็คือ ผลการทดลองในหนูแฮมสเตอร์ซีเรีย โดยการศึกษาพบว่า ในขณะที่แฮมสเตอร์มีอาการไม่รุนแรงจากการติดเชื้อโอไมครอน แต่กลับป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ก่อนโอไมครอนทุกสายพันธุ์
 
ดร.ไมเคิล ไดมอนด์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และผู้เขียนร่วมของงานวิจัยกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากสายพันธุ์อื่นๆ ทุกสายพันธุ์ทำให้แฮมสเตอร์เหล่านี้มีอาการป่วยอย่างรุนแรง” ขณะที่การวิจัยอื่นๆ ที่ทดลองกับหนูและแฮมสเตอร์เช่นกันนั้น ต่างก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกัน 
 
ทั้งนี้ การศึกษาเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ แต่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์
 
ขณะเดียวกัน อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โอไมครอนรุนแรงน้อยกว่าอาจเป็นเรื่องของกายวิภาค ดร.ไดมอนด์และทีมวิจัยของเขาพบว่า ระดับของเชื้อโอไมครอนในจมูกของแฮมสเตอร์เป็นระดับเดียวกับที่พบในสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ แต่ระดับของเชื้อโอไมครอนที่พบในปอดนั้นน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึงหนึ่งในสิบหรือต่ำกว่านั้น
 
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงได้ผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกันจากการศึกษาชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อที่นำมาจากทางเดินหายใจของมนุษย์ในระหว่างการผ่าตัด โดยในตัวอย่างปอด 12 ตัวอย่าง นักวิจัยพบว่า โอไมครอนเติบโตช้ากว่าเดลตาและสายพันธุ์อื่นๆ
 
นักวิจัยยังได้เพาะเชื้อเนื้อเยื่อจากหลอดลม และพบว่าภายในเซลล์หลอดลมเหล่านั้น โอไมครอนเติบโตเร็วกว่าเดลตา หรือโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ในช่วงสองวันแรกของการติดเชื้อ 
 
อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลการวิจัยเหล่านี้ เช่น การทดลองกับลิง หรือการทดลองในทางเดินหายใจของผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน ซึ่งอาจทำให้เราได้คำอธิบายว่า เหตุใดผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนจึงมีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
 
การติดเชื้อไวรัสโควิดนั้นเริ่มต้นที่จมูก หรืออาจจะในปากและลามลงไปที่ลำคอ การติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงจะไม่ไปไกลกว่านี้ แต่เมื่อไวรัสลงไปถึงปอดแล้วก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงได้
 
เซลล์ภูมิคุ้มกันในปอดสามารถทำปฏิกิริยารุนแรง กล่าวคือ ไม่เพียงฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังฆ่าเซลล์ที่ไม่ติดเชื้อด้วย ทำให้เกิดการอักเสบ และผนังปอดที่บอบบางได้รับความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือด และทำลายอวัยวะอื่นๆ
 
ดร.กุปตาตั้งข้อสงสัยว่า ข้อมูลใหม่ของทีมวิจัยของเขาให้คำอธิบายระดับโมเลกุลว่า เหตุใดจึงไม่ค่อยพบโอไมครอนในปอด 
 
เซลล์จำนวนมากในปอดมีโปรตีนที่เรียกว่า TMPRSS2 อยู่บนพื้นผิว ซึ่งสามารถช่วยให้ไวรัสผ่านเข้าสู่เซลล์ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทีมของ ดร.กุปตาพบว่า โปรตีนนี้ไม่สามารถจับโอไมครอนได้ดีนัก ด้วยเหตุนี้ โอไมครอนจึงสามารถแพร่เชื้อในเซลล์ลักษณะนี้ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ก็ได้ข้อสรุปแบบเดียวกัน
 
นอกจากนี้ ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เซลล์มักจะไม่นำพาโปรตีน ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายคำถามที่ว่า เหตุใดจึงพบโอไมครอนในทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าในปอด
ดร.กุปตายังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า โอไมครอนพัฒนาในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยเติบโตในลำคอและจมูก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง นั่นก็เป็นสาเหตุที่ว่า เหตุใดไวรัสจึงอาจมีโอกาสกระจายออกไปในอากาศและไปจับกับสัตว์พาหะ หรือโฮสต์ใหม่ได้ง่าย 
 
ทำไมเชื้อโอไมครอนจึงแพร่ได้ง่ายกว่า คำถามที่ยังรอคำตอบ :
 
อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาเหล่านี้จะช่วยอธิบายว่าเหตุใดโอไมครอนจึงทำให้เกิดโรคที่รุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าทำไมสายพันธุ์นี้จึงแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายมาก 
 
ซารา เชอร์รี นักไวรัสวิทยาที่ Perelman School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า การศึกษาเหล่านี้ตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปอด แต่ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการแพร่เชื้อ
 
ดร.ไดมอนด์กล่าวว่า ก่อนที่จะรับรองสมมติฐานที่ว่า TMPRSS2 เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจโอไมครอนนั้น เขาต้องการรอให้มีการศึกษาเพิ่มมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนแทนที่จะเป็นสัตว์ “ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังเร็วเกินไป” เขากล่าว
 
นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าการแพร่เชื้อของโอไมครอน ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการหลบเลี่ยงแอนติบอดี ทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปในเซลล์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ แต่พวกเขาสงสัยว่า โอไมครอนอาจมีคุณสมบัติอื่นๆ อีก
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิจัยรายงานว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) อ่อนแอลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนระดับโมเลกุล แต่จะต้องมีการทดลองมากขึ้น เพื่อดูว่านี่เป็นหนึ่งในกุญแจไขความลับของโอไมครอนได้ด้วยหรือไม่
 
ที่มา the standard
วันที่ 5 มกราคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)