เวียดนามคืบหน้า พัฒนาวัคซีนโรค ASF ในสุกร ใกล้สำเร็จ
เวียดนามฉวยจังหวะอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด วิจัยและพัฒนาวัคซีนใกล้สำเร็จ แย้มพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์
วันที่ 11 มกราคม 2565 เว็บไซต์ asian-agribiz รายงานว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ซึ่งระบาดในหลายประเทศแถบเอเชีย รวมถึงเวียดนามซึ่งเผชิญการระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2019 ทำให้เวียดนามมีความคืบหน้าในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ASF ได้อย่างรวดเร็วและใกล้บรรลุผลสำเร็จเตรียมผลิตในเชิงพาณิชย์
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่เวียดนามพบการระบาดของโรคดังกล่าวในสุกร กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ได้มอบหมายให้บริษัทเวชภัณฑ์เวียดนามสองแห่งคือ Navetco Vietnam Central Veterinary Medicine JSC (Navetco) และ Dabaco Group JSC อาศัยจังหวะการแพร่ระบาด วิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF โดยในเดือนธันวาคม 2021 ทั้งสองบริษัทประกาศว่าได้เสร็จสิ้นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัยวัคซีนแล้ว และขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์
สำหรับ Navetco เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (MARD) ได้พัฒนาวัคซีน ASF จากไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสายพันธุ์ G-delta I 177L ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จากรายงานผลการศึกษาของบริษัทพบว่าสุกรที่รับวัคซีนนี้ยังคงปลอดภัยเมื่อให้วัคซีนในปริมาณที่สูงกว่าขนาดภูมิคุ้มกันขั้นต่ำ 104 เท่า
นอกจากนี้บริษัทยังได้ทดสอบความต้านทานโรคของวัคซีน ผลลัพธ์ปรากฏว่าไม่แสดงสัญญาติของอาการติดเชื้อ ASF หลังจากที่หมูได้รับวัคซีนแล้ว 6 วันแรก สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเสถียรของวัคซีน ASF จากสายพันธุ์ G-delta I 177 L.
Tran Van Hanh รองผู้อำนวยการทั่วไปของ Navetco กล่าวว่า “การทดสอบแสดงให้เห็นว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิได้ดีเยี่ยมภายใน 6 วันหลังฉีดให้สุกร สุกรที่รับวัคซีนแล้วมีสุขภาพแข็งแรง เทียบกับกลุ่มสุกรที่ทดสอบทางคลินิกไม่ได้รับวัคซีน แสดงถึงอาการติดเชื้อ ASF อย่างชัดเจน”
รองผู้อำนวยการของ Navetco ยังระบุอีกว่า หลังประสบผลคืบหน้าในการทดสอบ ขั้นตอนหลังจากนี้คือการส่งตัวอย่างวัคซีนไปยังสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อขออนุมัติก่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยทันทีที่หน่วยงานวิทยาศาสตร์เวียดนามรับรอง บริษัทได้เตรียมพร้อมทั้งทรัพยากรมนุษย์และวัตถุดิบเพื่อเริ่มการผลิตวัคซีนเชิงพาณิชย์ทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติ
ขณะที่ Dabaco Group ผู้พัฒนาเวชภัณฑ์การเกษตรของเวียดนาม อีกหนึ่งผู้พัฒนาวัคซีน ASF เปิดเผยเช่นกันว่า หลังจากใช้เวลาศึกษาวัคซีนนานเกือบปี ทีมวิจัยของประสบความสำเร็จในการค้นพบจำนวนเซลล์ไวรัสที่เหมาะสมสำหรับการผลิตวัคซีน ASF ในปริมาณมากแล้ว
โดยรองศาสตราจารย์ Dinh Duy Khang จากสถาบัน Institute of Biotechnology, Vietnam Academy of Science and Technology ผู้ศึกษาวัคซีนร่วมกับ Dabaco Group ระบุว่า ทีมทดสอบได้ใช้กลุ่มตัวอย่างของสุกรที่มีไวรัส ASF ในปริมาณสูง ร่วมกับกลุ่มสุกรที่รับวัคซีน ผลวิจัยพบว่า กลุ่มสุกรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ตายทั้งหมดในเวลา 21 วันหลังติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม สุกรที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนแอนติบอดีสูงเพียงพอและมีอัตรารอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีด
Nguyen Nhu So ผู้อำนวยการทั่วไปของ Dabaco กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังคงทำการวิจัยและคำนวณความเข้มข้นของการเจือจางในเชิงปริมาณและเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีราคาและประสิทธิผลดีที่สุด
ทั้งนี้ สำหรับ Navetco และ Dabaco เป็นสองทีมวิจัยของเวียดนามที่พัฒนาวัคซีน ASF จากตัวอย่างเชื้อสายพันธุ์ G-Delta I1177/Delta VLR ซึ่งได้รับจากสหรัฐอเมริกา
กรมปศุสัตว์และ Navetco คาดว่าหากได้รับการอนุมัติจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ คาดว่าวัคซีนจะสามารถเดินหน้าผลิตได้ในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ ทว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาอย่างชัดเจนสำหรับการเปิดตัวเชิงพาณิชย์
แม้เวียดนามจะมีความคืบหน้าในการวิจัยวัคซีนทั้งสองบริษัท แต่บรรดาเกษตรกรหลายรายยังคงเคลือบแคลงสงสัยในคุณภาพของวัคซีน โดยกล่าวกับ Asian Agribiz เป็นเรื่องน่ายินดีที่เวียดนามรุดหน้าในการเป็นประเทศวิจัยและพัฒนาวัคซีน แต่ยังคงเกิดคำถามเกี่ยวกับคุณภาพที่แท้จริงของวัคซีนดังกล่าว
“วัคซีนเป็นทางออกที่เกษตรกรคาดหวังสุด แต่เกษตรกรก็ระมัดระวังในหวัง พวกเขาไม่อยากผิดหวังอีกถ้าวัคซีนใช้ไม่ได้ผล” Hoai Phuong เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายหนึ่ง เผยกับ Asian Agribiz
เกษตรกรรายนี้ยังเผยอีกว่า ความปลอดภัยทางชีวภาพคือสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดในการทำปศุสัตว์ เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพิงยาหรือวัคซีนได้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในประเทศแถบเอเชียซึ่งเป็นแหล่งโรคเขตร้อนมากมาย ความปลอดภัยทางชีวภาพต่อฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความปลอดภัยทางโรคระบาด
“จำเป็นต้องมีการเลี้ยงในระบบปิดเพื่อปกป้องสุกรและจำกัดการสัมผัสกับหนู นก และบุคคลภายนอก การลงทุนในฟาร์มปิดมีต้นทุนขึ้น เพราะจะมีระบบการระบายอากาศและปัจจัยประกอบหลายประการ นั่นเป็นวิธีการที่จะรักษาหมูในฟาร์มมให้ปลอดภัยจากโรค”
“มีหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม และนั่นควรเป็นจุดสนใจของอุตสาหกรรมนี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวัคซีน” Hoai Phuong กล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มกราคม 2565