พิษโควิดคนหมดมู้ดใช้จ่าย แนะรัฐอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยโอมิครอนกระทบกำลังซื้อช่วงปีใหม่ยอดใช้จ่ายไม่คึกคัก แนะรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง ชง 4 มาตรการสกัดโควิด
 
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index หรือRSI ) ของผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนธ.ค.อยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพ.ย.อยู่ที่ 62.1 สะท้อนถึงมู้ดของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปลายปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร
 
1)ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง 4 จุด จากระดับ 69.7 ในเดือนพ.ย.มาอยุ่ที่ 65.1 เดือนธันวาคม สะท้อน ถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาด โอมิครอนที่กระจายในหลายจังหวัด (สำรวจ ระหว่างวันที่ 17-24 ธ.ค.64)
 
2)ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ต่อยอดขายเดิมเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากมาตรการ ผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุม การแพร่ระบาดที่ชัดเจนขึ้น และการที่ ประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศตามภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น
 
3)ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตาม ประเภทร้านค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม พบว่า เพิ่มขึ้นทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า จากบรรยากาศการจับจ่ายช็อปปิ้ง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายเนื่องจาก ผู้บริโภครอความหวังจากโครงการ "ช้อปดีมีคืน" ที่ควรเกิดในปลายปี 64 แต่เลื่อนเป็นต้นปี 65 แทน
 
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ดัชนีฯ ไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากการแพร่ของโอมิครอนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และเกรงว่าภาครัฐจะกลับมาประกาศมาตรการการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม same store sale growth (SSSG) แต่ก็เกิดจากความถี่ในการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ปีใหม่ และยอดซื้อต่อบิล spending per bill หรือ per basket size เพิ่มขึ้น เล็กน้อยจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนว่ายังต้องการแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
 
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการของภาครัฐที่ไม่ชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอน
 
 
ขณะที่ในส่วนของกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอนจากมุมมองผู้ประกอบการในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในส่วนของยอดขายเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา มาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.มาตรการการกระตุ้น การจับจ่ายภาครัฐ 2.การจัดโปรโมชั่น ของร้านค้า และ 3.การขายผ่านออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลต่อ การแพร่ระบาดโอมิครอนที่อาจจะกระทบต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ประชาชน งดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือแม้ กระทั่งกังวลต่อมาตรการที่อาจต้องล็อกดาวน์
 
นอกจากนี้ในฝั่งของผู้ประกอบการได้มีการเตรียมแผนงานรองรับหากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนทวีความรุนแรง ต่อเนื่อง พบว่า 63% ขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น, 40% ลดค่าใช้จ่าย ลดการจ้างงาน, 30% ดำเนินธุรกิจตามปกติ เว้นแต่ภาครัฐ สั่งให้ปิด นอกจากนี้ยังขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดภาระค่าใช้จ่าย 58% เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง 55% ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน 43%
 
สำหรับ 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อรับมือกับการระบาดของโอมิครอนนั้นประกอบด้วย 
 
1)ยกระดับความพร้อมของระบบสาธารณสุข 
 
2)มีมาตรการเชิงรุกสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด หากมีการระบาดในแต่ละพื้นที่ รัฐควรมีการปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์เท่านั้น
 
3)ช่วยภาคเอกชนและประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงิน สมทบประกันสังคม ภาษีป้าย รวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่มี การค้ำประกัน และพิจารณา ลดค่าใช้จ่าย ของผู้ประกอบการทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดทางตรงและทางอ้อม
 
4)ผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปดีมีคืน ควรทำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบรวมกันกว่าแสนล้านบาทตลอดปี
 
ส่วนกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องของภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ SMEs และภาคธุรกิจไทยได้อีกครั้ง
 
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการจ้างงาน และสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการได้อย่างต่อเนื่อง การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยไปต่อให้ได้ เราไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนในปี 2564 ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก ดังนั้นการลดการแพร่ระบาดของโอมิครอนให้กระจายอยู่วงจำกัด และกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยับตัวดีขึ้นให้น้อยที่สุดจึงเป็นทางออกเดียว
 
ที่มา tnnthailand.com
วันที่ 12 มกราคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)