เปิด 6 เหตุผล ทำไมไม่ควรติดโอมิครอน แม้อาการไม่รุนแรง

แม้จะมีการศึกษาพบว่าโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสมีเหตุผล 6 ข้อ ที่ชี้ว่าเราไม่ควรติดเชื้อในเวลานี้ 
 
วันที่ 13 มกราคม 2565 รอยเตอร์สรายงานว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เกิดมุมมองว่าโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงน้อยลงกว่าในอดีต
 
บางคนสงสัยว่าทำไมจึงต้องพยายามอย่างมากเพื่อไม่ให้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในตอนนี้ ในเมื่อทุกคนจะต้องติดเชื้อตัวนี้อยู่แล้ว ไม่ช้าก็เร็ว
ต่อไปนี้คือเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ยังไม่ใช่เวลาที่น่าพอใจสำหรับการระบาดของโอมิครอน
 
ติดโอมิครอนแล้วยังป่วยหนักได้ :
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าโอมิครอนอาจมีแนวโน้มนำไปสู่การติดเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ที่แสดงอาการพบว่า กลุ่มที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยมีสัดส่วนที่สูงขึ้น เช่น เจ็บคอ หรือน้ำมูกไหล โดยไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจเหมือนกับการติดเชื้อสายพันธุ์อื่น
 
แต่การแพร่ระบาดอย่างหนักของโอมิครอนในหลายประเทศ จะทำให้ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงมีจำนวนมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากอิตาลีและเยอรมนีบ่งชี้ว่า ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียู และเสียชีวิต
 
“ไมเคิล นุสเซนซ์ไวก์” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า “ผมยอมรับว่าไม่ช้าก็เร็วทุกคนจะต้องติดเชื้อ แต่ติดเชื้อหลังจากนี้จะดีกว่า เพราะว่าในเวลานั้นเราจะมียาและวัคซีนที่ดีขึ้น และมีจำหน่ายมากขึ้น”
 
คุณอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ :
“คุณอาจมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย แต่คุณสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงได้ แม้ว่าคุณจะมีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือจากการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม” อะกิโกะ อิวาซากิ ผู้ศึกษาด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากไวรัส มหาวิทยาลัยเยล กล่าว
 
ผลกระทบระยะยาวที่ยังไม่ชัดเจน :
การติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน บางครั้งทำให้เกิดกลุ่มอาการโควิดที่ยืดเยื้อ และทำให้ร่างกายอ่อนแอ
 
“เรายังไม่มีข้อมูลสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอน ที่จบลงด้วยภาวะลอง โควิด (Long Covid)” อิวาซากิ กล่าวและว่า “ผู้คนที่ดูถูกว่าโอมิครอนทำให้มีอาการไม่รุนแรง กำลังทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงของโรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี”
 
นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนด้วยว่าโอมิครอนจะมีผลกระทบที่เป็นภัยเงียบเช่นเดียวกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น แอนติบอดีที่โจมตีเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกายตัวเอง, การทำให้สเปิร์มอ่อนแอ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน
 
ยาขาดตลาด :
วิธีการรักษาโอมิครอนยังมีจำกัด ทำให้แพทย์ต้องใช้ยาอย่างมีเหตุผล ขณะที่ยาแอนติบอดี 3 ชนิด ที่ถูกใช้ระหว่างการระบาดระลอกที่ผ่านมา ใช้ไม่ได้ผลกับโอมิครอน
นอกจากนี้ ยาตัวที่สามคือ “โซโทรวิแมบ” จากแกล็กโซสมิทไคล์น ก็กำลังขาดตลาด เช่นเดียวกับยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสในช่องปากจากไฟเซอร์ อิงก์ ที่มีประสิทธิภาพในการต้านโอมิครอน เพราะฉะนั้นหากคุณป่วย คุณอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้
 
โรงพยาบาลกำลังเต็ม :
“เดวิด โฮ” ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสและได้รับการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงไม่มีภาวะเจ็บป่วย โอมิครอนจะไม่สร้างความเสียหายให้มากนัก
 
“อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีการติดเชื้อน้อยลง จะยิ่งดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ ซึ่งโรงพยาบาลกำลังล้น ในขณะที่จุดพีกของโอมิครอนยังมาไม่ถึง สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ” โฮกล่าว
 
เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากเป็นประวัติการณ์ โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ จึงต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษามะเร็งออกไปก่อน และในช่วงที่มีการระบาดหนัก โรงพยาบาลที่มีงานล้นไม่สามารถให้การรักษาภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น อาการหัวใจวาย
 
ยิ่งติดเชื้อมาก ยิ่งเสี่ยงเกิดสายพันธุ์ใหม่ :
โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ลำดับที่ 5 ของโควิด ซึ่งยังคงต้องจับตาดูความสามารถในการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่า จะลดลงหรือไม่
อัตราการติดเชื้อที่สูงยังทำให้ไวรัสชนิดนี้มีโอกาสกลายพันธุ์มากขึ้น และไม่มีอะไรรับรองได้ว่าไวรัสชนิดใหม่จะมีพิษภัยมากกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่
 
“SARS-CoV-2 ทำให้เราประหลาดใจในหลาย ๆ ด้าน ในช่วง 2-3 ปีมานี้ และเราไม่มีทางคาดเดาเส้นทางวิวัฒนาการของไวรัสชนิดนี้ได้” โฮ กล่าว
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 มกราคม 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)