UN คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2022 โตลดลงเหลือ 4% พิษโอมิครอน-เงินเฟ้อพุ่ง-แรงงานขาดแคลน
สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs) หรือ UN DESA เปิดเผยรายงานคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ว่าจะขยายตัวได้ 4 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งโตอยู่ที่ระดับ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่เศรษฐกิจเติบโตชะลอตัวที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023
การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มปี 2022 (World Economic Situation and Prospects 2022) ที่คาดการณ์อย่างชัดเจนว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในลำดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
รายงานให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยกเลิกการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของบรรดาธนาคารกลางหลายชาติ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากการระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จนกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยตัวเลขเงินเฟ้อโลกในปี 2021 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 5.2 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเป็นไปได้ยาก และช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่ต้องการบรรลุกับสิ่งที่จะสามารถทำได้หากไม่มีการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดจะลากยาวไปจนถึงปี 2023 ขณะที่ในกลุ่มของประเทศพัฒนาแล้ว GDP จะสามารถฟื้นตัวได้เกือบเต็มที่จนอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดภายในปี 2023
แนวโน้มการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันนี้ทำให้ประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล โดยรายงานของ UN ได้เตือนว่า การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนภายในประเทศและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้โดยง่าย เมื่อมาตรวัดเงินเฟ้ออีกตัวหนึ่งอย่างดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ Producer Price Index (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ระลอกใหม่
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) มาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของฝั่งผู้ผลิต พุ่งขึ้น 9.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบสัดส่วนเป็นอัตรารายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 กระนั้นก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ และขยับเพิ่มขึ้นจาก 9.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายน
ขณะเดียวกันเมื่อเทียบการเติบโตในอัตรารายเดือน ดัชนี PPI ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.8 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายน
ด้านดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5 เปอร์เซ็นต์หลังจากดีดตัวขึ้น 0.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายน
ความเคลื่อนไหวของดัชนี PPI ในครั้งนี้เป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับดัชนี CPI และแม้ดัชนีทั้งสองจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น กระนั้นก็ขยับเพิ่มขึ้นในจังหวะที่ช้าลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนก่อนหน้า
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2022 จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในปี 2021 อย่างสินค้าในกลุ่มพลังงาน อาหาร และรถยนต์มือสอง จะขยับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดย บิล อดัมส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PNC กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ แนวโน้มที่ฝั่งผู้ผลิตจะผลักภาระไปยังฝั่งผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
ที่มา the standard
วันที่ 14 มกราคม 2565