เปิดแผนเชื่อมรถไฟจีน-ลาว-ไทย ยกระดับการค้า-ลงทุน3ประเทศ
โครงการทางรถไฟระหว่างจีน-ลาว ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศจีนเดินทางเข้า สปป.ลาว และไทย ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาว มายังไทย จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางได้ถึง 30-50% โดยใน 3-5 ปีข้างหน้า
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมีการบริหารจัดการรองรับการขนส่ง เพื่อใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน
การค้าระหว่างประเทศไทยและลาวปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าและส่งออกมากกว่าการนำเข้า 6 เท่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการเดินทางของประชาชน ขณะที่การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรหนองคาย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งไทย-ลาว-จีน พบว่าปี 2564 การส่งออกสินค้าเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 23% จากปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท
ขณะที่การนำเข้าปี 2564 ลดลงเล็กน้อย 2,000 ล้านบาท หรือลดลง 8%
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน
พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้า เพื่อกำกับติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งได้มีการประชุมหารือกันแล้วในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งภาระความรับผิดชอบ เช่น เชื่อมการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เร่งดำเนินการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เตรียมแผนรับมือของประเทศผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว เป็นต้น
รวมถึงแผนผลักดันสินค้า ลงทุน และบริการ ซึ่งพบว่าสินค้าหลายชนิดผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มายังไทย โดยมีสินค้าสำคัญคือ ผักผลไม้สดแช่เย็น สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนรถยนต์ ยางพาราและไม้แปรรูป และเร่งรัดการขยายเส้นทางตรงถึงชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น เมืองคุนหมิง เพื่อให้บรรลุการเชื่อมต่อ 3 ประเทศแบบไร้รอยต่อตามนโยบายให้ได้
จากผลศึกษาที่ภาครัฐกำหนดไว้เกี่ยวกับแผนเชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน ประกอบด้วย
1)เร่งแผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อให้เสร็จในปี 2569 เร่งระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ให้เปิดในปี 2571 และเร่งสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย
2)การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน โดยการบริหารจัดการสะพานเดิม ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวงทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U-20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป รวมถึงปรับปรุงพื้นที่หนองสองห้อง 80 ไร่ งบประมาณ 280 ล้านบาท
เพื่อรองรับการตรวจปล่อยสินค้าขาออกไปฝั่งลาว และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร โดยมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอนาเขตของแต่ละฝ่าย อยู่ระหว่างหาข้อสรุปผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบในการประชุม 3 ฝ่าย ในเดือนมกราคม 2565
3)การเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ แนวทางการจัดขบวนรถไฟรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง เพื่อเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว ที่สถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยแผนระยะเร่งด่วนดำเนินการในปี 2565 ขยายเส้นทางปลายทางฝั่ง สปป.ลาว จากสถานีท่านาแล้งเป็นสถานีเวียงจันทน์ โดย รฟท.จะเพิ่มขบวนรถโดยสารให้บริการตั้งแต่ปี 2562 ไป-กลับวันละ 4 ขบวน รองรับการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว และขยายเส้นทางจากท่านาแล้งไปที่สถานีเวียงจันทน์กลางปี 2565
สำหรับแผนระยะกลางดำเนินการในปี 2566 ขยายเส้นทางฝั่งไทยจากสถานีหนองคายเป็นสถานีอุดรธานี และพิจารณาเปิดขบวนรถเพิ่ม รองรับการให้บริการในเส้นทางระหว่างสถานี นครราชสีมา-สถานีเวียงจันทน์ และแผนระยะยาวดำเนินการปี 2568 เป็นต้นไป จะเปิดเดินขบวนรถทางไกลให้บริการระหว่างสถานีกลางบางซื่อหรือพัทยา-สถานีเวียงจันทน์ อยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเพื่อประกอบกำหนดสถานีต้นทางและปลายทาง
4)การเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ต้องบริหารจัดการทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม เพิ่มความถี่การเดินรถจากไป 4 เที่ยว กลับ 4 เที่ยว และขนสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เป็นขาไป 7 เที่ยว ขากลับ 7 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่ ทำให้การขนสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.65 เท่า เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
โดยจะเพิ่มความถี่ในช่วงเช้าเป็นหลัก ไม่กระทบการสัญจรบนสะพาน โดยจัดขบวนเดินรถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า แบ่งเป็น 3 ระยะ แผนระยะเร่งด่วนในปี 2565 ซึ่งแผนการเดินรถได้รับความเห็นชอบได้รับอนุญาตให้เดินขบวนรถได้วันละ 10 ขบวนไปและกลับและพ่วงสินค้าได้ 25 แคร่ เริ่มทยอยเพิ่มจำนวนรถสินค้าตั้งแต่ธันวาคม 2564, แผนระยะกลางในปี 2566-2568 กำหนดแผนการเดินรถให้บริการสูงสุดวันละ 16 ขบวนไปและกลับ เดินรถทุกวัน โดยพ่วงรถสินค้า 25 แคร่ และแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป กำหนดเดินรถให้บริการสูงสุดวันละ 24 ขบวนไปและกลับ เดินรถทุกวัน พ่วงรถสินค้า 25 แคร่ โดยเดินรถบนสะพานแห่งใหม่
5.การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า ซึ่งพื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกได้สูงสุด 650 คันต่อวัน ทั้งนี้ แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย-ลาวเพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะเร่งด่วน การพัฒนาสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม
โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศและเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ ทั้งนี้ รฟท.จะปรับปรุงพื้นที่ลานยกสินค้าแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังมีโครงการ Mobile X-Ray หรือระบบบตรวจสอบตู้สินค้าเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ได้จำนวน 1 คัน วงเงิน 130 ล้านบาท โดยกรมศุลกากรหนองคายจะเป็นผู้ดำเนินการ มีขีดความสามารถ 20-25 คันต่อตู้ต่อชั่วโมง
ระยะยาว จะพัฒนาพื้นที่นาทาประมาณ 290 ไร่ เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดงานโยธา ซึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย และปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างของบประมาณศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ
สำหรับความคืบหน้าของ รฟท.อยู่ระหว่างเริ่มระยะที่ 1 ก่อสร้างทางรถไฟช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย คาดว่าจะก่อสร้างภายในปี 2565 และเปิดให้บริการได้ในปี 2569 ต่อไป
ด้านการบริหารจัดการทางรถไฟและสะพาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม จะศึกษาแนวทางการบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานเดิมที่มีอยู่ และในปี 2565 จะมีการออกแบบและก่อสร้างสะพานใหม่ ก่อนที่จะมีการพัฒนารถไฟช่วงนาทา-หนองคาย-ท่านาแล้ง ในปี 2566 ต่อไป
ขณะที่การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟในระยะเร่งด่วน จะมีการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟลาว และในระยะยาวจะมีการพัฒนาพื้นที่ย่านยาทา ซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) มีการออกแบบรายละเอียดงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยได้ออกแบบย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา รวมอยู่ในช่วงดังกล่าว
ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 17 มกราคม 2565