"อนามัยโลก" แจงความหมายโรคประจำถิ่น "อย่าเข้าใจผิดคิดว่าดี"
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น จนองค์การอนามัยโลกต้องเตือนว่า พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงโควิดไม่ใช่โรคอันตรายอีกต่อไป
ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวในเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อความเท่าเทียมกันด้านวัคซีน ระบุ “ผู้คนพูดกันมากเรื่องโรคระบาดใหญ่กับโรคประจำถิ่น โรคประจำถิ่นมาลาเรียคร่าชีวิตคนหลายแสน โรคประจำถิ่นเอชไอวี ความรุนแรงประจำถิ่นในเมืองชั้นใน โรคประจำถิ่นโดยตัวมันเองไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป”
ทั้งนี้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กระจายได้อย่างรวดเร็วติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามาก แต่ดูเหมือนรุนแรงน้อยกว่าสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว นั่นกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายกันว่าโควิดกำลังเปลี่ยนจากการเป็นโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งตีความได้ว่าผ่านจุดอันตรายไปแล้ว
“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำให้เกิดโรคน้อยโดยฉีดวัคซีนประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นี่คือการสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินในทัศนะของผม นั่นคือการสิ้นสุดการระบาดใหญ่” ไรอันกล่าวและว่า เป็นไปได้ที่คลื่นการเสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลจะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2565 โดยใช้มาตรการสาธารณสุขนำโดยการฉีดวัคซีน แต่ “เรายังหยุดไวรัสไม่ได้ในปีนี้ เราอาจหยุดมันไม่ได้เลย การระบาดใหญ่ของไวรัสจะสิ้นสุดลงด้วยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สิ่งที่เราทำได้คือยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”
ปัจจุบัน นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแจนส์เซนที่ฉีดเข็มเดียว วัคซีนตัวอื่นที่ดับเบิลยูเอชโออนุมัติต่างฉีดสองเข็ม ซึ่งไรอันกล่าวถึงการฉีดเข็ม 3 และ 4 จึงจะถือว่าฉีดครบคอร์สเพื่อคงภูมิคุ้มกันเจ็บป่วยโควิดรุนแรง
“เมื่อความรู้พัฒนาไป เมื่อเราเห็นระบบภูมิคุ้มกันอิ่มตัวและตอบสนองต่อการติดเชื้อซ้ำหรือการฉีดวัคซีนเข็มเพิ่มเติม ในอนาคตการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอาจเป็นคอร์สละ 3 หรือ 4 เข็ม ซึ่งจะไม่เรียกว่าเข็มกระตุ้น จำเป็นต้องฉีด 3 หรือ 4 เข็มอยู่แล้วเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งยาวนาน ปกป้องการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในระยะยาว”
ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินดับเบิลยูเอชโอ ยังประณามการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เหลื่อมล้ำระหว่างประเทศจนกับประเทศรวยว่าเป็นความล้มเหลวทางจริยธรรมเข้าขั้นหายนะ ประชาชนในประเทศรายได้ต่ำไม่ถึง 10% ได้ฉีดวัคซีนโดสเดียว ถ้าวัคซีนและเครื่องมืออื่นๆ ไม่ได้รับการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมแล้ว โศกนาฏกรรมโควิดที่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไปกว่า 5.5 ล้านคนนับจนถึงขณะนี้ก็จะดำเนินต่อไป
กาเบรียลลา บูเชอร์ กรรมการบริหารองค์กรการกุศลต่อต้านความยากจน “ออกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนล” กล่าวในเวทีเดียวกันถึงการกระจายวัคซีนให้เป็นธรรมโดยเร่งด่วนและความจำเป็นต้องผลิตในปริมาณมหาศาล เพราะทรัพยากรในการต่อสู้โรคระบาดใหญ่อยู่ในมือบริษัทและผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่ราย
จอห์น เอ็นเคนกาซอง ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกาวิจารณ์ว่า “ความร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกพังทะลายลงโดยสิ้นเชิง” ตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้เลยกับการที่ประชาชนในแอฟริกาได้ฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่คน หน่วยงานของเขาระบุว่า พลเมืองแอฟริกา 1,200 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเพียง 10% เท่านั้น
ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกายังโต้แย้งคำพูดของบางคนที่ว่า ประชาชนในแอฟริกายังลังเลกับวัคซีน เขาอ้างผลการศึกษา ระบุ ชาวแอฟริกัน 80% พร้อมฉีดวัคซีนทันทีถ้ามีวัคซีนให้ฉีด
ทั้งนี้ งานเวิลด์อีโคโนมิกฟอรรัมออนไลน์จัดขึ้นเป็นวันที่ 2 แล้วโดยมีผู้นำโลกร่วมแสดงความเห็นหลายคน เช่น นายกรัฐมนตรีแนฟตาลี เบนเน็ตต์ของอิสราเอล กล่าวถึงวิธีการจัดการโควิดในอิสราเอลที่ใช้วิธีการเร่งฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ด้วยยุทธศาสตร์ “เป็นแนวหน้าด้านยาและวัคซีนป้องกันโควิด-19” กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเผยว่า ประชาชน 62% ฉีดวัคซีนครบแล้ว รวมถึงคนที่ฉีดเข็มกระตุ้น นายกฯ กล่าวโดยอ้างงานวิจัยก้าวหน้าในอิสราเอล “เราอยากเป็นประเทศแรกในโลกที่รู้ว่าวัคซีนกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ตอบสนองกันอย่างไร”
นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะจากญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนได้สูงมากเนื่องจากค่านิยมของสังคมเน้นการปกป้องผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เขาเองมีแผนปิดพรมแดนเข้มงวดต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. เขาพยายามสร้างสมดุลระหว่างการออกข้อจำกัดกับการเปิดเศรษฐกิจต่อไป แต่ “การใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์กับสายพันธุ์โอมิครอนนั้นทั้งเป็นไปไม่ได้และไม่เหมาะสม”
ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดับเบิลยูเอชโอแนะให้ประเทศสมาชิกยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ แม้ว่ายังจะมองว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงน่าวิตกกังวลก็ตาม
คณะกรรมการฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอได้ยื่นข้อเสนอแนะชุดหนึ่งต่อผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งตัดสินใจว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยคณะกรรมการฯ ระบุว่า ไม่ควรใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นแนวทางหรือเงื่อนไขเดียวที่จะอนุญาตให้สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ เนื่องจากมีการเข้าถึงวัคซีนอย่างจำกัดทั่วโลก ตลอดจนการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ และกำหนดเป้าหมายการเฝ้าระวังสัตว์ที่เป็นตัวกลางและแหล่งสะสมโรคที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบแบบเรียลไทม์และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และวิวัฒนาการในสัตว์ โดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจในภาพรวมและสามารถระบุเชื้อไวรัส ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงด้านสาธารณสุขได้ทันท่วงที
ที่อังกฤษรัฐบาลประกาศเมื่อวันพุธ (19 ม.ค.) เตรียมยกเลิกมาตรการคุมโอมิครอนที่ออกมาเมื่อเดือนก่อน หลังข้อมูลชี้ว่าการติดเชื้อถึงจุดสูงสุดแล้ว คำแนะนำให้ทำงานจากบ้านยกเลิกทันที และตั้งแต่กลางสัปดาห์หน้าประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากในทุกที่ ไม่ต้องใช้ใบรับรองปลอดโควิดเมื่อต้องเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ไนท์คลับ
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้กำลังต่อสู้เพื่ออนาคตทางการเมืองหลังเจอเรื่องฉาวทีมงานจัดปาร์ตี้ในช่วงล็อกดาวน์ แจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ทำได้อย่างเยี่ยมยอดของอังกฤษทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ อังกฤษฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 36 ล้านโดส ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีกว่า 90% ได้รับวัคซีนเข็มสามแล้ว ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเป็นเวลาหลายสัปดาห์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 มกราคม 2565