เราจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร?
ปัญหาของเศรษฐกิจไทยอาจยุ่งเหยิงจนบางครั้งก็รู้สึกว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คล้ายกับเสียงร้องเพลงที่เบาและอ่อนโรยเกินกว่าที่ใครจะได้ยิน แต่ผมเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่กำลังเปล่งเสียงร้องและรอฟังเสียงของท่านอยู่ คนเหล่านี้พร้อมที่จะประสานเสียงไปกับท่าน พร้อมที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
“If I have learned anything in my time traveling the world, it is the power of hope. The power of one person – Washington, Lincoln, King, Mandela and even a young girl from Pakistan, Malala – one person can change the world by giving people hope.”
Naval Adm. William H. McRaven
The ninth commander of U.S. Special Operations Command
ในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2014 William H. McRaven ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญาของ The University of Texas at Austin ให้กับนักศึกษาจบใหม่กว่า 8,000 คน
มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคำขวัญว่า ‘What starts here changes the world.’ McRaven สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเล่าว่าคนอเมริกัน 1 คน จะได้พบเจอกับคนโดยเฉลี่ยถึง 10,000 คน เขาชวนคิดว่าหากนักศึกษาแต่ละคนสามารถเปลี่ยนชีวิตของคน 10 จาก 10,000 คนนั้นให้ดีขึ้น และบันดาลใจให้พวกเขาไปเปลี่ยนแปลงคนรุ่นต่อไปอีก 10 คน เมื่อผ่านไป 5 ชั่วอายุคน นักศึกษาจบใหม่ทั้ง 8,000 คนนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ถึง 800 ล้านคน
การเปลี่ยนชีวิตคน 10 คนอาจเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวกว่าที่คิด บางครั้งอาจเป็นเพียงการตัดสินใจว่าจะเดินไปทางซ้ายหรือขวา McRaven เล่าว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่ประจำอยู่ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก มีนายทหารหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจพาทหารใต้บังคับบัญชาอีก 10 ชีวิตแยกไปทางซ้ายของสี่แยก กลายเป็นว่าเขาช่วยชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาให้รอดพ้นจากการซุ่มโจมตีระยะประชิดที่รออยู่ทางขวา นายทหารหนุ่มคนนี้ไม่ได้รักษาชีวิตของทหาร 10 คน แต่ยังรักษาอนาคตของลูกหลานของทหารเหล่านี้
เนื่องในโอกาสที่บทความฉบับนี้เป็นฉบับแรกของปี 2022 ผมขอเริ่มต้นปีโดยการเล่าเรื่องราวของ ‘คนธรรมดา’ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มต้นจากการปรับสิ่งใกล้ตัวจนขยับขยายกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรอบตัว ผมขอหยิบหนึ่งเรื่องราวจากภาคประชาชน และอีกหนึ่งเรื่องราวจากภาครัฐ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปีนี้
หนึ่งคนธรรมดาจากภาคประชาชน: Ishita Khanna, Spiti Ecosphere
Ishita เป็นนักเรียนหลังห้องจากเมืองเดห์ราดูน ประเทศอินเดีย เธอไม่ได้มีผลการเรียนโดดเด่น ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมตัวอย่าง หากแต่รู้จักตนเองดีว่าตนสนใจศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เธอศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ที่ Delhi University และศึกษาต่อด้านการวางแผนพัฒนาชุมชนที่ Tata Institute of Social Sciences หลังเรียนจบ เธอเข้าทำงานกับองค์กรของภาครัฐที่สนับสนุนการทำงานของ NGO
ในช่วงเวลาที่ทำงานกับรัฐ เธอได้รับมอบหมายให้ไปทำงานยัง ‘Spiti’ หมู่บ้านเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากตั้งอยู่บนภูเขาสูง การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบเมืองจึงเข้าไม่ถึง แต่มีชุมชนที่เข้มแข็งและใกล้ชิดกับธรรมชาติ Ishita หลงรักและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาว Spiti เธอตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจของ Spiti ควบคู่ไปกับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ในปี 2002 เธอและเพื่อนร่วมงานอีก 2 คนลาออกจากองค์กรรัฐออกมาก่อตั้งบริษัท NGO ชื่อ Muse
เธอเริ่มต้นจากไอเดียเล็กๆ คือการสร้างมูลค่าให้กับพืชท้องถิ่นที่มีชื่อว่าซีบัคธอร์น (Sea Buckthorn) ผลของซีบัคธอร์นมีวิตามินซีสูงที่สุดในอันดับต้นๆ และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งการปลูกซีบัคธอร์นยังช่วยยึดหน้าดินและเพิ่มไนโตรเจนในดินอีกด้วย Muse สนับสนุนการเพาะปลูกและเพิ่มมูลค่าของซีบัคธอร์นโดยพัฒนาจากชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Approach) Ishita
เริ่มต้นโดยการปรึกษาพูดคุยกับผู้นำของหมู่บ้าน Spiti เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดและวิถีชีวิตของชาว Spiti และขอแรงสนับสนุนจากผู้นำหมู่บ้าน ส่งผลให้โครงการได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในชุมชน Muse วิจัยเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับซีบัคธอร์น และสอนให้ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงฝึกปลูกและเก็บผลซีบัคธอร์นให้ได้คุณภาพสูงสุด โดยมี Muse เป็นผู้โฆษณาและจัดจำหน่าย
นอกจากการพัฒนาโดยมีชุมชนศูนย์กลาง Muse ยังช่วยสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจขนาดย่อม ภายใต้ชื่อโครงการว่า ‘Spiti Ecosphere’ โดยเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น Muse สนับสนุนให้คนในชุมชนเปลี่ยนห้องว่างภายในบ้านให้เป็นโฮมสเตย์ ให้บริการอาหารพื้นฐานที่ใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงธรรมชาติที่สวยงามและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น Spiti Ecosphere ช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน เช่น การฝึกให้เด็กวัยรุ่นขับรถ Jeep Safari เพื่อนำเที่ยว เป็นต้น
โดย Muse เป็นผู้ออกแบบแคมเปญท่องเที่ยว วางระบบการทำงาน ตลอดจนการจัดการขยะและน้ำเสียเพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวเกิดผลเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
Spiti Ecosphere จัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถสร้างรายได้คิดเป็นเงินไทยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้น ความสำเร็จของโครงการยังดึงดูดนักลงทุน ตลอดจนอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมพัฒนาหมู่บ้าน Spiti จนเกิดการต่อยอดไปเป็นระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และยั่งยืนขึ้น ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเด็กจบใหม่ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่กี่ปี การเปลี่ยนแปลงที่พวกเธอเริ่มสร้างวัฏจักรเชิงบวกที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาว Spiti ได้อย่างเป็นที่ประจักษ์
หนึ่งคนธรรมดาจากองค์กรรัฐ: Malini Gaur, Indore, Madhya Pradesh, India.
Indore เคยเป็นหนึ่งในเมืองที่สกปรกที่สุดในอินเดีย โดยในปี 2015 Indore ได้คะแนนความสะอาดเป็นลำดับที่ 180 จาก 434 เมืองที่เข้ารับการประเมิน ท้องถนนเกลื่อนไปด้วยขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ครัวเรือนและร้านอาหารนำขยะมากองทิ้งไว้ตามสวนสาธารณะ ขณะที่บริษัทเอกชนที่เทศบาลเมืองว่าจ้างให้เข้ามาจัดการขยะและทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนกลับทำงานอย่างบกพร่อง
ในปี 2015 Malini Laxmansingh Gaur ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ทำให้เธอกลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของเมือง Gaur ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ให้แก้ปัญหาการจัดการขยะและการดูแลความสะอาดของเมือง ภายใต้โครงการ Swachh Bharat ของรัฐบาลกลาง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศอินเดียให้เป็นประเทศที่สะอาดน่าอยู่
Gaur เริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือการปรับปรุงคุณภาพการจัดการขยะและการทำความสะอาดเมือง เธอเลิกจ้างภาคเอกชนที่ทำงานบกพร่อง ปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานที่ขาดประสิทธิภาพลง
จากนั้นจึงวางระบบการจัดการขยะและนำเทคโนโลยีมาใช้ Gaur ปรับตารางให้รถขยะและพนักงานทำความสะอาดทำงานวันละ 2 ครั้ง ใช้เทคโนโลยี GPS ติดตามตำแหน่งของรถขยะ และใช้เทคโนโลยีติดตามเวลาเข้า-ออกงานของพนักงานทำความสะอาด
การปรับปรุงคุณภาพการทำความสะอาดของเทศบาลเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรบวก ประชาชนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จึงร่วมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของเทศบาล ส่งผลให้การลงทุนปรับปรุงระบบงานจัดการขยะของเทศบาลคืนทุนในเวลาอันสั้น
เมื่อประชาชนเริ่มสนับสนุน Gaur จึงเริ่มนำระบบแรงจูงใจเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เธอสนับสนุนให้ร้านค้าและร้านอาหารติดตั้งถังขยะและคัดแยกขยะ เก็บค่าปรับจากประชาชนที่ทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้เธอยังจัดตั้ง ‘Drum Squad’ ขึ้นมาเป็นกลุ่มฝูงชนขนาดเล็กที่ตระเวนไปรอบเมือง หากเจอครัวเรือนหรือร้านค้าที่ทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะก็จะตีกลองเสียงดัง เพื่อเรียกความสนใจจากประชาชนที่อยู่โดยรอบ นับเป็นวิธีที่แปลกใหม่และได้ผล
ความพยายามของ Gaur สัมฤทธิ์ผลเกินคาด กระทรวงการเคหะและกิจการเมืองประกาศให้ Indore เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในอินเดียติดต่อกันตั้งแต่ปี 2017-2020 และกลายเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการขยะและการทำความสะอาดให้กับเทศบาลกว่า 250 แห่งในอินเดีย
เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในอินเดีย สถานะของ Indore ในปีแรกที่ Gaur เข้ารับตำแหน่ง สะท้อนถึงความล้มเหลวเชิงสถาบันภายในองค์การเทศบาลซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
นอกจากนี้ประชาชนยังสูญเสียความเชื่อมั่นในการทำงานของเทศบาลอีกด้วย Gaur ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละนิด แต่มีประสิทธิผล โดยเริ่มแก้ปัญหาจากโครงสร้างองค์กรภายในเทศบาล จากนั้นจึงวางระบบแรงจูงใจให้กับประชาชน และมุ่งให้เกิดวัฏจักรเชิงบวกต่อภาคส่วนอื่นของสังคม
ความพยายามทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประชาชนชาว Indore ภูมิใจในเมืองที่ตนอาศัย จึงมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการขยะของเมือง และช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้ประชาชนคนอื่นทำให้เมืองที่พวกเขารักสกปรก นำไปสู่เป็นการแก้ปัญหาการจัดการขยะและการดูแลความสะอาดของพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืน
บทส่งท้าย :
ในสุนทรพจน์ของ McRaven เขาเล่าถึงบทเรียน 10 ประการจากการฝึกทหารของหน่วยซีล สัปดาห์ที่ 9 ของการฝึกถือเป็น ‘สัปดาห์นรก’ เพราะต้องอดนอนตลอดสัปดาห์ และฝึกทั้งร่างกายและจิตใจอย่างหนัก ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ทหารต้องลงไปแช่ในแอ่งโคลนให้จมลึกถึงคอเป็นเวลายาวนานกว่า 15 ชั่วโมง ทหารจะต้องอดทนกับโคลนที่เย็นเฉียบและลมหนาวที่พัดแรงในเวลากลางคืน ครูฝึกบอกว่าหากมีคนถอดใจครบ 5 คน นักเรียนทุกคนจะได้ลุกออกจากโคลน แต่จะนับว่าทุกคนไม่ผ่านการฝึก
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด มีนักเรียนคนหนึ่งเปล่งเสียงร้องเพลงออกมา
McRaven เล่าว่า แม้เพื่อนร่วมฝึกคนนั้นจะร้องผิดคีย์ด้วยความหนาว แต่ก็ร้องด้วยซุ่มเสียงกระตือรือร้น ชวนให้มีพลัง เมื่อมีคนหนึ่งเริ่มร้องเพลง ก็มีคนที่ 2 เริ่มร้องประสาน ตามมาด้วยคนที่3, 4, 5…จนกระทั่งทหารทุกคนร้องเพลงพร้อมกัน เขาเล่าว่าเสียงร้องเพลงของทหารคนแรกสร้างแรงบันดาลใจและพลังบวกให้ทุกคนสู้กับความยากลำบาก พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าโคลนอุ่นขึ้น ลมเริ่มเบาลง ในที่สุดทุกคนก็อดทนจนผ่านการฝึกไปได้
“If you want to change the world, start singing when you are up to your neck in the mud”
แล้วเราจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร?
ผมหวังว่าเรื่องราวของ ‘คนธรรมดา’ คนหนึ่งจากภาคประชาชน และอีกหนึ่งคนจากองค์กรรัฐ จะให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ รอบตัว การเริ่มต้นของท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนรอบตัวเริ่มเปลี่ยนแปลงตามไป การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จะขยับขยายกลายเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ปัญหาของเศรษฐกิจไทยอาจยุ่งเหยิงจนบางครั้งก็รู้สึกว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คล้ายกับเสียงร้องเพลงที่เบาและอ่อนโรยเกินกว่าที่ใครจะได้ยิน แต่ผมเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่กำลังเปล่งเสียงร้องและรอฟังเสียงของท่านอยู่ คนเหล่านี้พร้อมที่จะประสานเสียงไปกับท่าน พร้อมที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
เรามาเริ่มเปล่งเสียงร้องเพลงกันครับ
ที่มา the standard
วันที่ 24 มกราคม 2565