เปิดประสิทธิผลและผลข้างเคียงวัคซีน Pfizer ในเด็กและวัยรุ่น
เด็กและวัยรุ่นสามารถติดเชื้อโควิดได้เหมือนผู้ใหญ่ อาจมีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ภาวะลองโควิด (Long COVID) และกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) และแพร่เชื้อโควิดให้กับผู้อื่นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน นอกจากนี้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศพบว่า เด็กและวัยรุ่นมีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าระลอกก่อน
คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุด (วันที่ 27 ธันวาคม 2564) ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิดทุกราย ส่วนเด็กปกติที่มีสุขภาพดี ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะรับวัคซีนหรือปฏิเสธก็ได้ โดยมีการรับทราบถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีน ทั้งนี้ แนะนำวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech ซึ่ง อย. รับรองแล้วเป็นลำดับแรก
วัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กและวัยรุ่นแบ่งเป็น 2 สูตร คือ สูตรสำหรับกลุ่มอายุ 12 ปี – ไม่เกิน 18 ปี (ฝาสีม่วง) ขนาด 30 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับผู้ใหญ่ และสูตรสำหรับกลุ่มอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปี (ฝาสีส้ม) ขนาด 10 ไมโครกรัม ซึ่งลดลงเหลือ 1 ใน 3 เท่าของผู้ใหญ่ วิธีการฉีดทั้ง 2 สูตรเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ถ้าฉีด 8-12 สัปดาห์จะกระตุ้นภูมิได้สูงกว่า 3-4 สัปดาห์
ประสิทธิผลของวัคซีน :
ถึงแม้กลุ่มอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปีจะใช้วัคซีนในขนาดน้อยกว่า แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ต่างจากกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ และประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วยยังสูงมากกว่า 90% ใกล้เคียงกัน
โดยการวิจัยระยะที่ 3 ของกลุ่มวัยรุ่น (12-15 ปี) ศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 2,260 คนที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างตุลาคม 2563 – มกราคม 2564 พบว่ามีประสิทธิผล 100% เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเลย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนติดเชื้อ 16 ราย ส่วนการติดตามหลังเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างที่รัฐแอริโซนา ระหว่างกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วย 92%
ส่วนการวิจัยระยะที่ 3 ของกลุ่มเด็ก (5 ปี – ไม่เกิน 12 ปี) ศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 2,268 คน เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และติดตามไปประมาณ 2 เดือนพบว่า มีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วย 90.7% โดยพบผู้ติดเชื้อ 3 รายในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน และ 16 รายในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนการติดตามหลังเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างยังไม่มีข้อมูล เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากป้องกันอาการป่วยแล้ว วัคซีนยังสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะ MIS-C ในวัยรุ่นได้ โดย MIS-C เป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา หรือทางเดินอาหาร ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับโควิด ภาวะนี้อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เด็กส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา
งานวิจัยดังกล่าวศึกษาในโรงพยาบาลเด็ก 24 แห่งในสหรัฐฯ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 พบว่าเด็กส่วนใหญ่ (95%) ที่มีภาวะ MIS-C ไม่ได้ฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันภาวะนี้ได้ 91%
ผลข้างเคียงของวัคซีน :
ผลข้างเคียงของวัคซีนส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และพบในช่วง 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มเด็กมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด 56% อ่อนเพลีย 26% ปวดศีรษะ 20% ไข้ 13% ปวดกล้ามเนื้อ 10% ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่น มีอาการปวดบริเวณที่ฉีด 79% อ่อนเพลีย 66% ปวดศีรษะ 65% ปวดกล้ามเนื้อ 24% หนาวสั่น 28%
ส่วนผลข้างเคียงที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบมากหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แต่ในอัตราที่ต่ำ และส่วนใหญ่หายเป็นปกติ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ ณ ธันวาคม 2564 พบว่า มีรายงานภาวะนี้ในกลุ่มเด็กผู้ชาย 4.3 ราย และเด็กผู้หญิง 2 ราย ส่วนวัยรุ่นชายพบ 45.7 ราย และวัยรุ่นหญิง 3.8 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส
ปัจจุบันในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กมากกว่า 9 ล้านโดส (เข็มที่ 1 ครอบคลุม 29.1%) และกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า 19 ล้านโดส (เข็มที่ 1 ครอบคลุม 65.7%) และหลายประเทศรับรองการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็กอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปีแล้ว เช่น ยุโรป (เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564) สิงคโปร์ (เมื่อ 11 ธันวาคม 2564) สหราชอาณาจักร (เมื่อ 22 ธันวาคม 2564) และญี่ปุ่น (เมื่อ 21 มกราคม 2565)
ที่มา the standard
วันที่ 26 มกราคม 2565