โรคประจำถิ่นคืออะไร และประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลายคน น่าจะได้ยินคำศัพท์เกี่ยวกับโรคระบาดของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เช่น องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็น ‘การระบาดใหญ่’ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้แนวคิด ‘โรคประจำถิ่น’ ในการควบคุมโควิด-19 พ.ศ. 2565 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์โรคประจำถิ่นสำหรับโควิด-19 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 
 
ส่วน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 แย้งว่า โควิด-19 ไม่มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น และได้พูดถึงโรคติดต่อ, โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง และพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
 
ก่อนที่จะถกเถียงว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ หรือการถอดโควิด-19 ออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตรายมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร THE STANDARD ขอสรุปความหมายของคำที่ใช้อธิบายระดับของโรคติดต่อและประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันดังนี้
 
ระดับของโรคติดต่อ :
 
แบ่งได้อย่างน้อย 4 ระดับตามจำนวนผู้ป่วยที่พบ เทียบกับค่าคาดการณ์และการแพร่กระจายในเชิงภูมิศาสตร์ ได้แก่
 
การระบาด (Outbreak) :
หมายถึง เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยมากผิดปกติ เช่น พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปในระยะเวลาอันสั้นหลังร่วมกิจกรรมกัน พบผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน หรือพบผู้ป่วยโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่นั้นมาก่อนเพียง 1 ราย ยกตัวอย่าง การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง, การระบาดของไข้เลือดออกในจังหวัดแห่งหนึ่ง 
 
โรคระบาด (Epidemic) :
หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในลาตินอเมริกาปี 2014, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2014-2016 ทั้งนี้ ในทางวิชาการคำว่า Outbreak และ Epidemic มีความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้ แต่คำว่า Outbreak จะหมายถึงการระบาดที่มีขอบเขตของพื้นที่แคบกว่า
 
การระบาดใหญ่ (Pandemic) :
หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดใหญ่ปี 1918 หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้หวัดสเปน, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, โควิด-19 สำหรับไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกแบ่งระยะของการระบาดใหญ่เป็น 6 ระยะ และ 2 ช่วงหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว ได้แก่ ช่วงหลังจุดสูงสุด (Post Peak) และช่วงหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic)
 
โรคประจำถิ่น (Endemic) :
หมายถึง โรคที่มีอัตราป่วยคงที่ในพื้นที่ และมักคาดการณ์ได้ว่าส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใด ฤดูไหน จำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น ไข้เลือดออกในมากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งพบผู้ป่วยตลอดทั้งปีและมากขึ้นในฤดูฝน ไข้มาลาเรียในทวีปแอฟริกา หากในพื้นที่นั้นมีการระบาดของโรคประจำถิ่นในระดับสูงจะเรียกว่า Hyperendemic
 
ประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย :
 
ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นิยาม ‘โรคติดต่อ’ หมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่โดยตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน แบ่ง 3 ประเภท ได้แก่
 
โรคติดต่ออันตราย :
หมายถึง โรคที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้รวดเร็ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประกาศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 โรค ได้แก่ กาฬโรค, ไข้ทรพิษ, ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, ไข้เวสต์ไนล์, ไข้เหลือง, ไข้ลาสซา, โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์, ไวรัสมาร์บวร์ก, ไวรัสอีโบลา, ไวรัสเฮนดรา, โรคซาร์ส, โรคเมอร์ส, วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก 
และล่าสุดคือ โควิด-19 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563
 
โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง :
หมายถึง โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประกาศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 55 โรค เช่น กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง, การติดเชื้อในโรงพยาบาล, ไข้เลือดออก, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่, คอตีบ, คางทูม, บาดทะยัก, พยาธิใบไม้ตับ, โรคติดเชื้อไวรัสซิกา, โรคเท้าช้าง, โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ
 
โรคระบาด :
หมายถึง โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังไม่เคยประกาศให้โรคใดเป็นโรคระบาด ความแตกต่างระหว่างโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภทนี้ ที่สำคัญคือการรายงานโรคและมาตรการในผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส
 
การรายงานโรค: บุคคล 4 กลุ่มตามกฎหมาย ได้แก่ เจ้าบ้านหรือแพทย์ผู้รักษา, ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล, ผู้ชันสูตร และเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ ที่พบโรคติดต่ออันตรายจะต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง โรคระบาดภายใน 24 ชั่วโมง และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังภายใน 7 วัน
 
มาตรการ: ผู้ติดเชื้อโรคติดต่ออันตราย/โรคระบาดจะถูกแยกกัก (Isolation) จนพ้นระยะแพร่เชื้อ ในขณะที่ผู้สัมผัสโรคติดต่ออันตราย/โรคระบาดจะถูกกักกัน (Quarantine) หรือคุมไว้สังเกต (Close Observation) จนพ้นระยะฟักตัว ยกตัวอย่าง โควิด-19 ผู้ติดเชื้อจะถูกแยกกักที่โรงพยาบาล/บ้าน 10 วัน ส่วนผู้สัมผัสจะถูกกักกันที่บ้าน 14 วัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกักกัน 7 วัน + คุมไว้สังเกต 3 วัน (สามารถออกไปทำงานได้)
 
แต่สำหรับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะไม่มีมาตรการแยกกัก/กักกัน/คุมไว้สังเกต นอกจากนี้ถ้าเป็นโรคติดต่ออันตราย/โรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ เช่น โรงงาน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ ไว้เป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราวได้
 
ดังนั้นการเรียกโควิด-19 เป็น ‘โรคระบาดใหญ่’ หรือลดระดับลงมาเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ จะขึ้นอยู่กับอัตราการเกิดโรคและรูปแบบการกระจายของโรคในเชิงพื้นที่/ภูมิศาสตร์ ซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ในระยะสั้น เพราะไวรัสยังคงกลายพันธุ์ตลอดเวลา การเดินทางระหว่างประเทศที่ทำให้ไวรัสสามารถแพร่ข้ามประเทศหรือทวีปได้อย่างรวดเร็ว และยังไม่มีนิยามโรคประจำถิ่นที่เฉพาะเจาะจงกับโควิด-19
 
 
ระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดท่าทีต่อโควิด-19 ได้ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายด้วย หากความรุนแรงของโรคลดลง (อาจเป็นผลจากความครอบคลุมของวัคซีนหรือปัจจัยภายในของไวรัส) และประชาชนยอมรับความเสี่ยงของโรคได้มากขึ้น โดยลดระดับจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ มาเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ได้ ทั้งที่โควิด-19 ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
 
ที่มา the standard
วันที่ 31 มกราคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)