สนค.ชูซาอุฯ ประตูการค้าสู่ตะวันออกกลาง
สนค.ชี้ตลาดซาอุดีอาระเบีย โอกาสฟื้นฟูการค้า เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง จาก 2 ประเทศฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต วางเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เติบโตได้ในปี 2565 นี้
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาโอกาสการส่งออกสินค้าไปตลาดซาอุดีอาระเบีย หลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมตลาดส่งออกสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเน้นการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าให้กลับคืนมา
โดยซาอุดีอาระเบียถือเป็นหนึ่งในตลาดเก่าที่จะฟื้นฟูการส่งออกให้กลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวเพิ่มขึ้น
ซาอุฯ ถือเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากตุรกี จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุฯ อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 เหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของซาอุฯ จะขยายตัวที่ 4.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนที่ขยายตัว นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจของซาอุฯ ในปี 2566 จะยังคงขยายตัวที่ 2.3%
สัดส่วนการส่งออกของไทยไปซาอุฯ ก่อนหน้าที่จะลดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% (เฉลี่ยปี 2527-2531) และเริ่มลดลงนับแต่นั้น โดยปี 2533 การส่งออกไปซาอุฯ หดตัว 11.0% แต่ก็ยังมีการค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลงก็ตาม
ในปี 2548 สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 63.6% เนื่องจากซาอุฯเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และมีการเปิดกว้างทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น หลังจากนั้น สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกก็เติบโตได้ในเกณฑ์ดี จนกระทั่งปี 2558 การส่งออกเริ่มชะลอตัวลงอีกครั้ง ซาอุฯจากที่เคยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 21 ในปี 2558 (มีสัดส่วน 1.4% ต่อการส่งออกรวม) ลดลงมาเป็นอันดับที่ 29
ในปี 2564 (มีสัดส่วน 0.6% ต่อการส่งออกรวม) จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบตกต่ำ และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยสินค้าที่หดตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และอาหารสัตว์เลี้ยง เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในครั้งนี้ หากมองในแง่เศรษฐกิจการค้าทั้ง 2 ฝ่าย สามารถสร้างความร่วมมือได้ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ แรงงาน การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า และอาหาร ซึ่ง สนค.ประเมินว่าการกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี จะเป็นกลไกความร่วมมือที่สำคัญที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจ เปิดประตูการค้า และแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกัน จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการส่งออกไปตลาดซาอุฯ
โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปซาอุฯจะสามารถกลับไปเหนือระดับ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ไทยเคยมีมูลค่าการส่งออกไปซาอุฯ สูงสุด (ปี 2557) และคาดการณ์ว่า ในปี 2565 (ณ 1 ก.พ. 2565) มูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 280,336 ล้านบาท ขยายตัว 20.3% โดยการส่งออก จะมีมูลค่า 54,678 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% การนำเข้า จะมีมูลค่า 225,658 ล้านบาท ขยายตัว 24.3% และขาดดุลการค้า 170,980 ล้านบาท
– สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปและผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง
– สินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
นอกจากนี้ สนค.ได้ประเมินสินค้าส่งออกศักยภาพที่มีโอกาสและคุ้มค่าต่อการผลักดันไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาดซาอุดีอาระเบียอยู่เดิม รวมถึงสินค้าที่ซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มนำเข้าจากตลาดโลกเพิ่มขึ้นตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา ไว้ดังนี้
– สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (เช่น มะพร้าว
เม็ดมะม่วงหิมพานต์) เนื้อปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ปลาปรุงแต่ง (เช่น ปลาทูน่าปรุงแต่ง) กาแฟ ขนมจากน้ำตาล (แบบไม่มีโกโก้ผสม) อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช เป็นต้น
– สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์สำหรับรถยนต์นั่ง รถบัส
และรถบรรทุก ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องระบายอากาศ หรือเครื่องหมุนเวียนอากาศที่มีพัดลมประกอบร่วมอยู่ด้วย เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องประดับเพชรพลอย อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ (เช่น ข้อต่อ ข้องอ ปลอกเลื่อน) ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565