ดอน ปรมัตถ์วินัย เล่าที่มาฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ก้าวข้ามอดีต มุ่งสู่อนาคต

หมายเหตุ “มติชน” ถือโอกาสหลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย พูดคุยกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 มกราคม ที่ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทูตอันสำคัญของสองประเทศ ไปจนถึงที่มาที่ไปซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ในวันนั้น และเราจะเดินหน้าสานสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันต่อไปอย่างไรหลังจากนี้
 
 
อยากให้เล่าถึงบรรยากาศในวันที่ 25 มกราคม เพราะจากคลิปที่ได้เห็นภาพวิดีโอ ณ พระราชวังอัลยามามะฮ์ ฝ่ายซาอุฯต้อนรับไทยอย่างดียิ่ง :
 
ผมก็เห็นบรรยากาศขบวนรถของท่านนายกฯ จากคลิปวิดีโอเช่นกัน เพราะตอนนั้นรัฐมนตรีที่ร่วมคณะทุกคนของทั้งสองประเทศต้องเข้าไปรออยู่ข้างในพระราชวังตามกระบวนการพิธีต้อนรับของประเทศเจ้าบ้านที่ผู้นำทั้งสองจะทักทายกันเมื่อขบวนรถผู้เยือนมาถึง และเดินผ่านแถวทหารเกียรติยศพร้อมอาวุธและเพลงบรรเลงต้อนรับจากกองทหารดุริยางค์ ภาพเหตุการณ์นี้บอกเล่าโดยล่ามไทยที่อยู่เคียงข้างท่านนายกฯ ทั้งสองผู้นำเดินเข้าอาคารพระราชวังถึงแถวที่มีการแนะนำบุคคลในคณะของทั้งสองฝ่าย จากนั้นจึงเข้าสู่ห้องหารือ พิธีต้อนรับถือว่าสมเกียรติเต็มที่ ตามที่ได้หารือกันไว้ และรับทราบกันล่วงหน้าและดังที่เห็นกันในคลิปวิดีโอ อดแปลกใจไม่ได้เหมือนกันกับข่าวหลายแห่งที่ออกมาในไทยอย่างเป็นตุเป็นตะ จนน่าเป็นห่วงเรื่องการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ซึ่งมีการนำเสนอคนละเรื่องกับสิ่งที่เราซึ่งอยู่ในสถานการณ์และรับรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
 
 
ขณะที่การหารือระหว่างท่านนายกฯ กับองค์มกุฎราชกุมารซาอุฯ ก็เป็นไปอย่างดีมาก เดิมทีมีการตกลงล่วงหน้าของฝ่ายเตรียมการว่า การหารือจะสั้นกระชับเน้นเรื่องหลักๆ ที่สะท้อนการปรับความสัมพันธ์เป็นปกติ แต่ปรากฎว่าผู้นำทั้งสองกลับพูดคุยกันได้เรื่อยๆ ในบรรยากาศที่ชื่นมื่นมาก และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่พูดตกลงกันให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น พร้อมซื้อไก่ฮาลาลจากไทย และพร้อมเปิดเส้นทางบินระหว่างสองประเทศโดยเร็วให้คนสองประเทศไปมาหาสู่กันได้ เป็นต้น ทราบว่ามกุฎราชกุมารซาอุฯ ทรงเป็นคนเอาจริงเอาจังในการทำงาน ไม่ว่าทรงทำสิ่งใดก็อยากเห็นผลงานต่างๆ ออกเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว หลังจบการหารืออย่างเป็นทางการแล้ว พระองค์ทรงพูดคุยกับท่านนายกฯ หลายเรื่องมากในช่วงอาหารกลางวัน ตั้งแต่เรื่องฟอร์มูล่าวัน อี-สปอร์ต อนิเมชั่น ไปจนถึงเรื่องสุขภาพ
 
 
โดยภาพรวมต้องบอกว่าเป็นการหารือที่ดีมาก เป็นไปตามที่ท่านนายกฯ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กว่ามีผลสำเร็จใน 9 ด้าน ซึ่งครอบคลุมหมดตั้งแต่เรื่องท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน อาหาร สุขภาพ ความมั่นคง การศึกษาและศาสนา การค้าการลงทุน และการกีฬา และยังมีการหารือเรื่ององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ด้วย ซึ่งมกุฎราชกุมารทรงเน้นย้ำและทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่า เรื่องของปัญหาภายในที่มีอยู่นั้นเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะไปจัดการเอง จะไม่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
 
ผลโดยรวมที่รับทราบจากภาคเอกชนไทยผ่าน คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งติดตามข่าวการเยือนก็ได้บอกว่า เอกชนไทยมีความพอใจอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างจุดเปลี่ยนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
ก่อนเดินทางกลับไทย ท่านนายกฯ ยังได้มีโอกาสพบปะกับผู้แทนนักเรียน นักศึกษา และคนไทยในซาอุฯ ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ทำให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของตนเองในฐานะผู้แทนประเทศ รับรู้ถึงความห่วงใยของท่านนายกฯ และเจตนาของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่จะเดินไปด้วยกันซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับคนไทยกลุ่มนี้และกลุ่มอื่นๆ
 
ที่มาของการเดินทางเยือนครั้งนี้ รวมถึงการปรับความสัมพันธ์ให้กลับสู่ปกติมาจากไหน :
 
แน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยหลายชุดได้พยายามที่จะหาทางปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้กลับเป็นปกติ แต่ยุครัฐบาลท่านนายกฯ ประยุทธ์ มีหลายเหตุการณ์ด้วยกันที่ทำให้เรื่องราวต่างๆ พัฒนามาถึงจุดนี้ สิ่งที่มีการพูดถึงคือการพบกัน 3 ฝ่ายระหว่างท่านนายกฯ กับ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และ นายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น ในระหว่างการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่มาบรรจบลงตัวกันว่าถึงเวลาแล้วที่ความสัมพันธ์ไทยกับซาอุฯ จะเดินหน้าต่อไปในฐานะมิตรประเทศโดยสมบูรณ์
 
การที่รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เดินทางมาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนในการประชุมดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เดินทางเยือนไทย ภายในของซาอุฯ เองเขามีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร รมว.กต.ซาอุฯ บอกกับผมตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ว่าเขาให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลดการพึ่งพาน้ำมัน สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่ท่านนายกฯ บาห์เรนเข้ามาร่วมในการพบกัน 3 ฝ่ายในครั้งนั้น ก็เพราะมิตรไมตรีที่ไทยได้ส่งถึงกันโดยตลอดกับบาห์เรน นอกจากนั้นการช่วยกันดูแลบางเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดเอซีดี ยังช่วยทำให้บรรยากาศเป็นใจ ผลักดันให้เกิดการประชุม 3 ฝ่าย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นในวันที่ 13 ตุลาคม ก็เกิดเหตุมหาวิปโยคในไทยดังที่คนไทยทุกคนยังเศร้าโศกยิ่งในทุกวันนี้
 
ต่อมาในปี 2560 ในโอกาสที่ผมเดินทางไปราชการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เผอิญพักที่โรงแรมเดียวกับ รมว.กต.ซาอุฯ จึงได้ขอหารือด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับทันทีที่ผมขอพบ เพราะการพบปะ 3 ฝ่ายที่กรุงเทพหนก่อนเป็นไปด้วยดียิ่ง และเมื่อการประชุมเอซีดีที่กรุงเทพสิ้นสุดลง เขาเดินมาหาเพื่อลากลับด้วยการโอบกอดผม เสมือนคนรู้จักมานาน ทั้งที่เพิ่งพบกันครั้งแรกที่กรุงเทพเท่านั้น ที่ผมรู้สึกได้คือนั่นเป็นสัญลักษณ์ของมิตรไมตรี 
 
 
ฉะนั้นพอได้พบกันอีกครั้งที่กรุงวอชิงตัน 2560 จึงเป็นการหารือที่อบอุ่น และเขากล่าวโดยไม่ลังเล ว่าขอเชิญให้ท่านนายกฯ ประยุทธ์เดินทางไปเยือนซาอุฯ เลย และหากไปก่อนเข้าเดือนรอมฎอนก็จะดี และบอกชัดเจนด้วยว่าเป็นการเยือนที่จะปรับความสัมพันธ์เป็นปกติด้วย โดยที่เรื่องทั้งหมดที่พูดคุยนี้ค่อนข้างกระชั้น และมีเรื่องไม่น้อยที่ต้องเตรียมความพร้อม ผมจึงรับเรื่องไว้เพื่อส่งข่าวตอบในภายหลัง อย่างไรก็ดีการเยือนซาอุฯ ของท่านนายกฯ ประยุทธ์ยังไม่ได้เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคเอง ทำให้ซาอุฯ มีเรื่องอื่นที่จะต้องดำเนินการในช่วงปี 2560 หลังจากนั้น ผมได้มีโอกาสพบกับ รมว.กต.ซาอุฯ อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2562 ระหว่างการประชุมโอไอซี ที่เมืองเจดดาห์
 
ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2562 เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้เดินทางไปนครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมประชุมจี 20 ท่านนายกฯ มีโอกาสได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด มกุฎราชกุมารซาอุฯ ซึ่งเป็นการพบปะที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นในระดับผู้นำรัฐบาลเอง โดยเจ้าชายมุฮัมมัดได้ตรัสกับท่านนายกฯ ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรับความสัมพันธ์กัน ต้องมองข้ามอดีตไปสู่อนาคต ที่ทั้งสองประเทศจะเดินต่อไปเพื่อประโยชน์กับความสัมพันธ์และกับประชาชนของทั้งสองฝ่าย พร้อมกันนั้นท่านนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศติดตามเรื่องและดำเนินการต่อให้ทุกอย่างลุล่วง
 
หลังจากนั้นมีการติดต่อตามกันมาในระดับ รมต.อีก 3 ครั้ง คือ นครนิวยอร์กในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2562 ผช.รมต.พบที่เมืองมานามา ประเทศบาห์เรนในเดือนพฤศจิกายน 2562 และที่กรุงริยาร์ดในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งผมไปเยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของ เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รมว.กต.ซาอุฯ คนปัจจุบัน 
 
ซึ่งการพูดคุยก็เป็นไปด้วยดี เรามีความรู้สึกที่ดีต่อกันมาตลอด และรับรู้กันว่าต้องมีการเตรียมตัวในหลายๆ เรื่อง มีเอกสารที่ต้องดำเนินการร่วมกันให้จบ ก่อนหน้านี้ก็มีการเลื่อนการเยือนที่ทางซาอุฯ มีหนังสือเชิญให้ท่านนายกฯ เดินทางไปเยือนเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 มาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะมาลงตัวในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเดิมท่านนายกฯ ตั้งใจว่าจะค้างสักหนึ่งคืน เพื่อจะได้ดูและรู้จักสถานที่ต่างๆ ตามที่ทางซาอุฯ เชิญ แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาของเราเองมีจำกัดเลยเป็นการเยือนเพียง 1 วันอย่างที่เห็น
 
หลังจากนี้ไปจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นตามมาบ้าง :
 
นอกจากเรื่องการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของกันและกันแล้ว ท่านนายกฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระองค์ทรงตอบรับ และกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ส่งหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระองค์อย่างเป็นทางการตามไปแล้วเช่นกัน การเยือนของพระองค์จะทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่นั่นหมายความว่าจากนี้กระทรวงต่างประเทศของไทย-ซาอุฯ จะต้องหารือกันต่อ และมองไปข้างหน้าด้วยกันว่าเราจะพูดคุยกันในเรื่องใดบ้าง และดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกใด เพราะขณะนี้ยังไม่มีกลไกอะไรในความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ความร่วมมือจะครอบคลุมเรื่องใดบ้าง และจะแล้วเสร็จได้เมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งที่เราจะร่วมมือกันมาจากศักยภาพที่ทั้งสองประเทศมีอยู่ ทำให้เกิดคามร่วมมือและมีปฎิสัมพันธ์กันให้มากขึ้น
 
หลังการหารืออย่างเป็นทางการของผู้นำและเดินไปยังห้องรับประทานอาหาร รมว.กต.ซาอุฯ ก็มาบอกให้ผมทราบว่าจะมีการพูดคุยกันต่อตามที่ได้นัดกันไว้ ซึ่งบรรยากาศการพบกับที่กระทรวงต่างประเทศซาอุฯก็ดีมาก เราคุยว่าจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้มีผลที่เป็นรูปธรรมตามที่ผู้นำ 2 ฝ่ายได้หารือกัน โดยในส่วนของแผนแม่บทสำหรับความร่วมมือจะมาจากสิ่งที่กระทรวงต่างประเทศคุยกัน มีการกำหนดกรอบเวลาที่จะดำเนินการของทั้ง 2 ฝ่าย และแลกเบอร์โทรศัพท์กันทั้งในส่วนของผมและในส่วนของผู้นำ
 
ผมได้แจ้งกับรมว.กต.ซาอุฯแล้วว่า หลังเสร็จสิ้นการเยือนของท่านนายกฯในวันที่ 25 มกราคม หากซาอุฯจะนำคณะมาเยือนเราก็พร้อมจะรับเช่นกัน ในบรรดาความพร้อมด้านต่างๆ ที่น่าจะพร้อมมากที่สุดคือการไปมาหาสู่ของประชาชนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว เพราะสายการบินซาอุฯ จะมีการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกันในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคณะผู้แทนซาอุฯ ก็จะเดินทางมาไทยได้ง่ายขึ้น
 
ขณะที่ในส่วนของเรา ภาคเอกชนไทยก็พร้อมที่จะเดินทางไปเยือนซาอุฯ เช่นกัน ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่การเยือนดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เราได้เห็นถึงโอกาสในการค้าขายที่ควรจะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ในซาอุฯ ว่าจะทำให้เป็นจริงได้แค่ไหน ผู้แทนธุรกิจของไทยจะได้ไปเห็นข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่จะต้องประคองให้เดินหน้าอย่างมั่นคง ไม่นานจากนี้ก็จะเชิญคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มาประชุมกัน ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องดำเนินการต่อไป และมีงานที่เราต้องทำในรายละเอียดร่วมกันต่อไป
 
พล.อ.ประยุทธ์กำชับว่าทุกอย่างต้องเห็นผลใน 2 เดือน :
 
กรอบเวลาที่ท่านนายกฯพูดถึงคือการเตรียมการในแง่กลไกทั้งหลายให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน แต่ในเรื่องพลังงานและแรงงาน รองนายกฯ และ รมว.พน. สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และ รมว.รง. สุชาติ ชมกลิ่น ก็ได้หารือเบื้องต้นกับฝ่ายซาอุฯ แล้ว ถ้ามีสิ่งใดที่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้จากสิ่งที่คุยก็สามารถดำเนินการได้เลย เมื่อถึงเวลาที่มกุฎราชกุมารซาอุฯ เสด็จเยือนไทยก็ต้องมีการลงนามในความตกลงใหญ่ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำงานร่วมกันในช่วงนี้
 
มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่ทั้งสองฝ่ายมีความตื่นตัว และเชื่อว่าจะเป็นการก้าวเดินหน้าไปอย่างสุขุมเพื่อให้พื้นฐานที่วางไว้แข็งแกร่ง เราจะทำทุกเรื่องให้มีความมั่นคง ก้าวไปข้างหน้าร่วมกันโดยจับมือกันให้แน่น เพื่อให้ความร่วมมือในแต่ละด้าน แต่ละสาขาเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายตามเป้าหมายอย่างแท้จริง
 
ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าเต็มที่ :
 
เราควรให้น้ำหนักมากกับแผนความร่วมมือทั้งหลายที่ได้รับการพูดถึงและตกลงกัน ทั้งมกุฎราชกุมารและท่านนายกฯ ประยุทธ์เป็นนักปฏิบัติที่ต้องการเห็นทุกอย่างบรรลุผลอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงให้คุณค่าต่อพลวัตที่เกิดขึ้นและความร่วมมือที่จะช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป การนำคณะไปซาอุฯ ครั้งแรกที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเป็นการไปกรุยทางและวางพื้นฐาน 
 
เพื่อให้มีจุดตั้งต้นที่ดีและมีความเหมาะสม เราต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามมาต้องอยู่บนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น และเป็นตัวรองรับภารกิจต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย ทำให้ทั้งสองประเทศเอื้อประโยชน์ต่อกันได้มากขึ้น
 
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ขณะนี้เรามีความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอาหรับทุกประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์กับซาอุฯ อาจไม่เต็มที่ การที่ท่านนายกฯประยุทธ์คอยผลักดัน กระตุ้น และติดตามอย่างใกล้ชิดถือเป็นแรงบวกที่ทำให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างคล่องตัว
 
 
ในการหารือกัน ฝ่ายซาอุฯ ไม่ได้พูดถึงสิ่งต่างๆ ในอดีต เพราะเขาก้าวข้ามไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่สังคมไทยยังมีคนเล่าข่าวที่โมเมพูดอย่างปั้นน้ำเป็นตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง กุกันขึ้นอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น ความแตกแยกมีในทุกสังคมก็จริง แต่ในบ้านเราปรากฎการณ์ความแตกแยกควรจะมีน้อยลงได้แล้ว ที่มีมาโดยตลอดก็บั่นทอนความเจริญของประเทศไทยไปมาก เราอยากเห็นความสัมพันธ์ไทยกับประเทศต่างๆ และกับซาอุฯ ที่ได้ฟื้นขึ้นมาอย่างยากลำบาก สามารถเป็นไปอย่างสง่างาม เกิดประโยชน์และคุณค่าที่ยั่งยืน เราทั้งหลายควรต้องช่วยกันส่งเสริมอย่างแข็งขัน
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)