การเตรียมการ “นำคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาราเบีย” ณ กระทรวงการต่างประเทศ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทย เข้าร่วมประชุมกับ ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือการเตรียมการ “นำคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาราเบีย” ณ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
การสานความสัมพันธ์ ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบีย :
สืบเนื่องจากการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยในปี 2564 ไทยมีการส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย ประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากทั้งสองประเทศเปิดประตูและส่งเสริมโอกาสทางการค้าระหว่างกันอย่างสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าในอนาคต การส่งออกของไทยไปซาอุฯ อาจเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่าเพื่อเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งสามารถต่อยอดในด้านการขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระหว่างภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้ในอนาคต
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ จึงได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมเตรียมการนำคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียรวมกับภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพกว่า 24 ราย ในสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุปโภค บริโภค เกษตรและอาหาร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น โดยมีท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
-หารือเกี่ยวกับการจัดคณะนักธุรกิจเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียซึ่งสอดคล้องกับสาขาความร่วมมือทั้ง 9 ด้าน ที่นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือขณะเยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้แก่ 1) การท่องเที่ยว 2)พลังงาน 3)แรงงาน 4)ความมั่นคงทางอาหาร 5)สุขภาพ 6)ความมั่นคง 7)การศึกษาและศาสนา 8)การค้าและการลงทุน 9)กีฬาและวัฒนธรรม โดยมีกำหนดการเดินทางวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเบื้องต้นมีกำหนดการไปเยือนเมือง Riyadh และ Neom ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030
-ที่ประชุมได้รับทราบว่า หอการค้าซาอุดิอาระเบียมีความประสงค์จัดตั้ง สภาธุรกิจไทย-ซาอุดิอาระเบียซึ่งอาจจะมีการหารือกับภาคเอกชนไทยในลักษณะการประชุมออนไลน์ต่อไป
-ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสินค้าไทยที่คาดว่ามีศักยภาพในการส่งออกไปซาอุดิอาระเบียเพิ่มเติม อาทิ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป อัญมณี วัสดุก่อสร้าง
-ที่ประชุมได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคการค้ากับซาอุดิอาระเบียโดยเฉพาะปัญหาการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล
-โอกาสความร่วมมือที่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างการจัดคณะภาคเอกชนเดนทางเยือนซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคคลากรในด้านบริการการท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ รวมทั้งการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านกีฬา(Sport Diplomacy) การร่วมลงทุนด้านพลังงานทางเลือก(Renewable Energy)
ที่มา หอการค้าแห่งประเทศไทย
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565