สินค้าแพง-โอมิครอน ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค.ลดลงในรอบ 5 เดือน
สินค้าแพง-โอมิครอน ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค.ลดลงในรอบ5เดือน ม.หอการค้าชี้สะท้อนถึงความบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2565 ว่า ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับ ศบค. มีคำสั่งยกเลิก Test & Go
ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาราคาสินค้าแพงโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาหมูและสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 38.7 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม 2564 ที่อยู่ในระดับ 40.1 42.7 และ 55.7 ตามลำดับ
“การที่ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูงโดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้”
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงระดับ 30.0 มาอยู่ที่ 28.5 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมากแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 53.8 มาอยู่ที่ระดับ 52.5 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกันและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565