ซัพพลายเชนตึงตัวป่วนธุรกิจอาหารเอเชีย

ซัพพลายเชนตึงตัวป่วนธุรกิจอาหารเอเชีย โดยความล่าช้าในเรื่องของการนำเข้ายังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป ประกอบกับภาวะคอขวดบริเวณท่าเรือและการทำงานที่ล่าช้ายังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ 
 
สภาวะตึงตัวในระบบซัพพลายเชนทั่วโลก กำลังสร้างปัญหาให้แก่ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดในเอเชียตั้งแต่เฟรนช์ฟรายส์ ไปจนถึงไวน์ ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องระงับการขายชั่วคราว และชะลอการส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ขณะที่หลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ต่างเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนมันฝรั่งที่ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายร้านอาหารจานด่วนกว่าพันแห่ง
 
“มอส เบอร์เกอร์” ที่บริหารโดยมอส ฟู้ด เซอร์วิสเซส เป็นบริษัทอาหารรายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ โดยบริษัทเปิดเผยเมื่อวันพุธ (9ก.พ.)ว่าตัดสินใจระงับการขายเฟรนช์ฟรายส์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี(10ก.พ.)หลังจากเจอปัญหาส่งมอบมันฝรั่งล่าช้าเพราะภาวะตึงตัวในระบบซัพพลายเชนจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19
 
ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน และบริษัทคาดการณ์ว่าปัญหาขาดแคลนมันฝรั่งส่งผลกระทบต่อสาขา 1,256 แห่งไปจนถึงกลางเดือนมี.ค.      
 
ในส่วนของ“แมคโดนัลด์ โฮลดิงส์ แจแปน” เพิ่งจะกลับมาขายเฟรนช์ฟรายส์บรรจุห่อขนาดกลางและขนาดใหญ่อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากเจอปัญหาบริษัทผลิตมันฝรั่งระงับการส่งมอบสินค้าให้แม็คโดนัลด์ประมาณสอง-สามสัปดาห์
 
ซึ่งบริษัทกล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ได้รับการจัดส่งมันฝรั่งตามกำหนดว่าเป็นเพราะสภาพอากาศแปรปรวน เกิดน้ำท่วมหนักในแคนาดา และมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้การขนส่งสินค้าและเก็บสินค้าที่ท่าเรือหลักในแวนคูเวอร์พลอยชะงักงันไปด้วย
 
“เรายังคงมีสินค้าคงคลังที่จะจำหน่ายได้ตามปกติ แต่ความล่าช้าในเรื่องของการนำเข้ายังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป ประกอบกับภาวะคอขวดบริเวณท่าเรือและการทำงานที่ล่าช้ายังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ”ทามอตสึ ฮิอิโร ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)แมคโดนัลด์ แจแปน กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ต้องรับมือกับปัญหาการจัดหามัน  แมคโดนัลด์ มาเลเซียและอินโดนีเซียต่างก็ต้องมองหาวัตถุดิบชนิดนี้เช่นกัน 
 
“เราเจอปัญหาขาดแคลนมันฝรั่งทำให้ต้องงดขายเฟรนช์ฟรายส์ชั่วคราว”แม็คโดนัลด์ มาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค.
 
โดยบริษัทยุติการขายเฟรนช์ฟรายส์ห่อใหญ่แก่ลูกค้า เช่นเดียวกับแมคโดนัลด์ อินโดนีเซีย ที่ดำเนินการในลักษณะคล้ายกัน เมื่อวันที่ 31ม.ค.โดยยังคงขายเฉพาะเฟรนช์ฟรายส์ขนาดห่อกลางกลางเท่านั้น  
 
“โนบุโกะ โคบายาชิ”หุ้นส่วนจากอีวาย แจแปน ให้ความเห็นว่า “จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างปริมาณสินค้าในตลาดและความต้องการของผู้บริโภคจะแย่ลงมากกว่านี้
 
แต่ก็ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้เมื่อใดเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนยังคงไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง และความผันผวนนี้อาจจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ”
 
บรรดาผู้จำหน่ายไวน์เห็นด้วยกับคำพูดของโคบายาชิ โดยเฉพาะ“มิชิโอะ นากาบายาชิ” ประธานเมอร์เซียน บริษัทในเครือที่ผลิตไวน์ ที่กล่าวว่า “เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดปัญหาความล่าช้าในการนำเข้าอีก”
 
แม้ว่าบริษัทจะกลับมาจำหน่ายไวน์นำเข้าได้อีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ.หลังจากต้องระงับการจำหน่ายชั่วคราวเป็นเวลาเกือบ 5 เดือนเพราะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ นากาบายาชิ กล่าวว่า ความปั่นป่วนในระบบซัพพลายเชนทั่วโลกยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล
 
การระงับการจำหน่ายไวน์แคลิฟอร์เนีย 10 แบรนด์ดังส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ไวน์นำเข้า ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40.9% ของยอดขายโดยรวมของเมอร์เซียน  ปรับตัวลดลงประมาณ 20% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง“ซันโทรี โฮลดิงส์”ก็ระงับการขายไวน์ออสเตรเลียตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการผลิตที่ล่าช้าในอุตสาหกรรมไวน์ของออสเตรเลียเอง
 
โฆษกบริษัทซันโทรี  กล่าวว่า ความต้องการไวน์ออสเตรเลียในเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 40% เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ถึงสองเท่าตัว โดยซันโทรีไม่สามารถจัดหาไวน์ได้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงหลังจากญี่ปุ่นยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปีที่แล้ว 
 
ซันโทรี กำลังวางแผนที่จะเริ่มกลับมาจำหน่ายไวน์ออสเตรเลียอีกครั้งหลังเดือนเม.ย.แต่ปัญหาภาวะตึงตัวของตู้คอนเทนเนอร์อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน
 
อุตสาหกรรมอาหารกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในลักษณะคล้ายๆกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปัญหาที่เกิดในระบบซัพพลายเชนเท่านั้น อย่างกรณีบริษัทนิชิเรอิ ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งกำลังดิ้นรนเพื่อหาคนงานชาวกัมพูชามาทำงานที่โรงงานของบริษัทในประเทศไทย
 
ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้ประโยชน์จากโรงงานลดน้อยลง บริษัทจึงตัดสินใจขายไก่ทอดแช่แข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่แก่ตลาดต่างๆที่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อปีที่แล้ว
โคบายาชิ จากอีวาย กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทต่างๆในเอเชียต้องทำตัวให้ชินกับปัญหาความวุ่นวายต่างๆที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเตรียมพร้อมรับความท้าทายต่างๆ
 
“บริษัทต่างๆต้องประเมินการจัดซื้อของตนเองให้รอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงด้านต่างๆอันเป็นผลกระทบจากปัญหาความปั่นป่วนในระบบซัพพลายเชน หนึ่งในนั้นคือการทำให้ระบบซัพพลายเชนสั้นลงเพื่อบริหารจัดการภายในภูมิภาคเอเชียได้ และถือเป็นการลดการพึ่งพาในส่วนสำคัญๆจากภายนอกด้วย” โคบายาชิ กล่าว
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)