โลกเร่งเสริมปลอดภัย "ไซเบอร์" ศึกอีกด้านในสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน"

การบุกเข้าไปในยูเครนของกองกำลังรัสเซีย ไม่เพียงสร้างความกังวลไปทั่วโลกที่อาจลุกลามเป็นสงครามใหญ่ ขณะเดียวกันเครือข่ายไซเบอร์ก็กำลังเป็นที่เฝ้าระวังกันว่า อาจกลายเป็นอีกสมรภูมิที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง ทำให้หลายฝ่ายต่างเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีระบบข้อมูลที่อาจบานปลายจากยูเครนไปทั่วโลก
 
รอยเตอร์ส รายงานว่า ESET บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของสโลวะเกีย เปิดเผยเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมาถึงการตรวจพบ “มัลแวร์” (Malware)เป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการออกแบบเพื่อสร้างความเสียหายแก่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเบื้องต้นพบกระจายตัวอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของยูเครนหลายร้อยเครื่อง
 
มัลแวร์ดังกล่าวเรียกว่า “ไวเปอร์” (Wiper) สามารถเจาะระบบและลบข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์และทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินหลายแห่งของยูเครนที่ถูกไวเปอร์โจมตี
และกำลังกระจายตัวไปประเทศข้างเคียงอย่างลัตเวียและลิทัวเนีย ตามข้อมูลของ “ไซแมนเทค” บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์สหรัฐ
 
ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ของรัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนยังถูกโจมตี ทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานเหล่านั้นล่มชั่วคราว แม้รัสเซียจะปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แต่หลายฝ่ายยังพุ่งเป้าไปที่รัสเซีย
ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเร่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน
 
ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทการบิน ท่อส่งพลังงาน ไปจนถึงระบบไฟฟ้า ที่เสี่ยงต่อการหยุดชะงักทันทีหากเครือข่ายไซเบอร์ของบริษัทถูกโจมตี
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้ต่างได้รับประโยชน์ “รูเวน อโรนาชวิลี” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของอิสราเอล เปิดเผยว่า การตรวจพบมัลแวร์ไวเปอร์ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของ CYE เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าภายใน 48 ชั่วโมง
 
ขณะที่บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์สหรัฐอย่าง CrowdStrike และ Mandiant ต่างก็มีมูลค่าหุ้นสูงขึ้นราว 10% ในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังข่าวการตรวจพบมัลแวร์ไวเปอร์ในยูเครน เช่นเดียวกับ Palo Alto Networks และ Cloudflare ที่มีราคาหุ้นพุ่งถึง 12%
“ซูซาน สปอลดิง” ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ระบุว่า กรณีที่สงครามไซเบอร์รุนแรงขึ้น
 
รัสเซียอาจใช้การโจมตีด้วยวิธีการที่รุนแรงและซับซ้อนอย่าง “แรนซัมแวร์” ซึ่งเป็นการเรียกค่าไถ่ผ่านระบบไซเบอร์ ไปจนถึงกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อสร้างความปั่นป่วน
ทั้งนี้ ยูเครนต้องเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2015 เกิดกรณีไฟฟ้าดับใน กรุงเคียฟ จากการโจมตีเครือข่ายระบบไฟฟ้า โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง
 
เช่นเดียวกับกรณีมัลแวร์ “น็อตเพตยา” (NotPetya) ในปี 2017 ซึ่งเริ่มจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในยูเครนก่อนที่จะกระจายตัวไปทั่วโลก สร้างความเสียหายแก่หน่วยงานและธุรกิจต่าง ๆ มูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
“เกร็ก ออสติน” ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (IISS) ของอังกฤษ ระบุว่า “โดยทั่วไปการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียในยูเครนมักจะเป็นรูปแบบการก่อกวนระดับต่ำ สิ่งที่รัสเซียทำถือเป็นเพียงการทดสอบยังไม่ได้ปล่อยศักยภาพในการโจมตีออกมาอย่างเต็มที่”
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2565    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)