บริษัทจีนเผชิญแรงกดดัน เมื่อโลก “คว่ำบาตร” รัสเซีย

การวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ของนักการทูตนับร้อยคน ขณะที่ “เซอร์เก ลาฟรอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แถลงชี้แจงต่อกรณีการบุกยูเครน นับเป็นภาพสะท้อนความพยายามแซงก์ชั่น “รัสเซีย” ของนานาชาติ ขณะที่รัฐบาล “จีน” ยังคงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการคว่ำบาตรครั้งนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจจีนต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันสองด้าน
 
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า บริษัทของจีนกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดัน โดยด้านหนึ่งคือการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มข้นของโลกตะวันตก ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือนโยบายต่อต้านการคว่ำบาตรและความเป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นกับรัสเซียของรัฐบาลจีน
 
โดยการปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียส่งผลให้บริษัทจีนต้องพบกับการโจมตีจากผู้บริโภคที่สนับสนุนปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน และยังอาจเผชิญกับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศจีน
 
“ตีตี โกลบอล” (Didi Global) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถรับส่งรายใหญ่ของจีน เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก โดยตีตีตัดสินใจยกเลิกการถอนตัวออกจากรัสเซีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศเตรียมยุติการให้บริการในรัสเซียตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2022 เป็นต้นไป
 
แม้ว่าบริษัทจะยังไม่เปิดเผยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ แต่จากที่ตีตียังอยู่ในกระบวนการสอบสวนด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของทางการจีน ก็มีส่วนทำให้บริษัทต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนในช่วงเวลานี้
 
ขณะที่ “เลอโนโว” (Lenovo) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ของจีน ก็ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้บริโภคชาวจีนทันที หลังจากมีรายงานข่าวว่าเลอโนโวระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังรัสเซียเมื่อวันที่ 25 ก.พ. แม้ว่าบริษัทจะยังไม่ได้ยืนยันการตัดสินใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
 
ทั้งนี้ การปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียของบริษัทจีน ยังอาจขัดต่อกฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นที่รัฐบาลจีนบังคับใช้เมื่อเดือน มิ.ย. 2021 ซึ่งห้ามบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นของรัฐบาลต่างชาติในจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง แต่หากกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซีย ก็อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทจีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไปจนถึงผลกระทบทางกฎหมาย
 
“พอล แฮสเวลล์” พาร์ตเนอร์บริษัทกฎหมายข้ามชาติ เซย์ฟาร์ธ ชอว์ ระบุว่า “บริษัทจีนอาจถูกปรับหลายพันล้านดอลลาร์ หรืออาจต้องเผชิญกับบทลงโทษ ตั้งแต่การจำคุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปจนถึงการแซงก์ชั่นโดยตรงต่อบริษัทที่ฝ่าฝืนมาตรการอย่างร้ายแรง”
 
ที่ผ่านมามีกรณีที่โด่งดังคือการกักบริเวณ “เมิ่ง หว่านโจว” ซีเอฟโอของ “หัวเว่ย” ในบ้านพักที่แคนาดานานเกือบ 3 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน เช่นเดียวกับ “จูไห่ เจิ้นหรง” บริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันของจีน ที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐหลังพบว่ามีการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน
 
ทั้งนี้ ตามมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียล่าสุดของสหรัฐ ครอบคลุมถึงการห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตด้วยเครื่องจักร ซอฟต์แวร์ หรือต้นแบบของสหรัฐไปยังรัสเซีย ขณะที่จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ไปยังรัสเซียรวมมูลค่าถึง 60,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน
 
“ไห่เว่ย ถัง” ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า สินค้าส่งออกหลักของจีนไปยังรัสเซียคือ อุปกรณ์เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรของสหรัฐอย่างแน่นอน
 
มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจึงนำมาซึ่งความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและแรงกดดันอย่างหนักต่อบริษัทจีน ที่ไม่ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไรก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบรอบด้าน
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 มีนาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)