นักวิทย์มุ่งไขปริศนา ทำไมบางคนจึง ไม่ติดโควิด ทั้งที่อยู่กลางวงคนป่วย
นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่า เหตุใดจึงมีบางคนต้านทานโควิดได้ ทั้งๆ ที่คนรอบข้างพากันป่วย เพราะจุดนี้เป็นความหวังว่า กลไกนี้จะนำไปสู่การพัฒนายาที่ไม่เพียงจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้ด้วย
เดอะ การ์เดียน รายงานกรณีศึกษาผู้ที่ไม่ติดโควิดได้ง่ายๆ หนึ่งในนั้นคือ ฟีบี การ์เร็ตต์ สาวอังกฤษวัย 22 ปีจากเมืองไฮวีคอมบ์ แม้ว่าจะเข้าร่วมชั้นเลกเชอร์ของมหาวิทยาลัย หรือในปาร์ตี้ที่ทุกคนติดเชื้อ เธอกลับไม่ติด
“ฉันคิดว่าฉันเข้าไปอยู่ในวงที่มีผู้ติดเชื้อ 4 ครั้งได้” หญิงสาวกล่าว
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 การ์เร็ตต์เข้าร่วมการทดสอบโควิด-19 ครั้งแรกของโลก ที่รวมถึงการหยดไวรัสเชื้อเป็นเข้าจมูกและปิดไว้นานหลายชั่วโมงเพื่อให้ติดเชื้อ แต่ปรากฏว่าร่างกายของเธอต้านทานได้
“เราทดสอบหลายรอบ และหลายวิธีมาก ทั้งสว็อบที่คอ สว็อบที่จมูก และสว็อบอื่นๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการหยดเชื้อเข้าไปแล้วสว็อบในจมูกหนึ่งนาที รวมถึงการทดสอบเลือด แต่ฉันไม่เคยมีอาการ และไม่เคยมีผลเป็นบวก” การ์เร็ตต์กล่าว
“แม่ฉันบอกเสมอว่าครอบครัวเราไม่เคยเป็นหวัด ฉันก็สงสัยว่าน่าจะมีอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนี้”
จากการทดสอบดังกล่าว มีคนติดเชื้อ 34 คน และการ์เร็ตต์ไม่ใช่คนเดียวที่หลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้ ยังมีอีก 16 คนที่เชื้อไม่พัฒนาต่อ (พิจารณาจากการตรวจ PCR ต่อเนื่องสองครั้ง) แม้ว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบเชื้อบวกระดับต่ำ และใช้เวลาหลายวันกว่าจะแสดงผลหลังติดเชื้อแล้ว
เป็นไปได้ว่า นี่เป็นผลสะท้อนจากระบบภูมิคุ้มกันที่ปิดกั้นการติดเชื้อโดยไว
ระบบภูมิคุ้มกันตื่นตัวตั้งแต่แรก :
ศ.คริสโตเฟอร์ ฉิว ประจำมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ผู้นำการวิจัย กล่าวว่า ผลการศึกษาไวรัสชนิดอื่นก่อนหน้านี้ เราจะเห็นการตอบโต้ของภูมิคุ้มกันในจมูกที่ร่วมต่อต้านการติดเชื้อในขั้นต้นอย่างรวดเร็ว
“เมื่อพิจารณาร่วมกัน การค้นพบครั้งนี้บ่งบอกว่ามีการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างไวรัสกับตัวคนๆนั้น ซึ่งการไม่ติดเชื้อ เป็นผลมาจากการป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเริ่ม”
“อีกทางหนึ่งคือ ระดับไวรัสไม่ได้สูงพอที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตรวจจับได้ ขณะที่ ที–เซลล์ (เซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง) หรือปัจจัยของการอักเสบในเลือด มักสอดรับกับอาการที่แสดงออกมา”
ยังมีการศึกษาอีกชิ้นที่สันนิษฐานความเป็นไปได้ว่า จะมีการกำจัดเชื้อโควิดไปได้ช่วงแรกเริ่มที่สุดของการติดเชื้อ ก่อนที่มันจะหยั่งราก
ช่วงแรกที่โควิดเริ่มระบาด ดร.ลีโอ สวอดลิง แห่ง ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน และคณะจับตากลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่ทำงานกับคนไข้ที่ติดเชื้อ แต่ไม่เคยมีผลตรวจเป็นบวก หรือกลุ่มที่พัฒนาแอนตี้บอดี้ของตัวเองได้ ผลตรวจเลือดเผยว่า ร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้มี ที-เซลล์ที่ต่อต้านเชื้อ Sars-CoV-2 รวมถึงการติดเชื้อไวรัสอื่น
เป็นไปได้ว่า ความจำของที-เซลล์ จากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสก่อนหน้านี้ หรือเชื้อหวัดธรรมดา ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต้านโคโรนาไวรัสตัวใหม่ และปกป้องคนๆ นั้นจากโควิดได้
แต่การศึกษาเพื่อเข้าใจว่า คนเราจะต่อต้านการติดโควิดช่วงแรกได้อย่างไร ในยุคที่สายพันธุ์โอมิครอนระบาดอยู่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะจำเป็นต้องใช้การทดสอบอย่างเข้มข้น ทั้งตัวไวรัส แอนตีบอดี ทีเซลล์ และปัจจัยสกัดการติดเชื้ออื่นๆ อีกทั้งตอนนี้คนจำนวนมากฉีดวัคซีนป้องกันไปแล้ว
ด้านผลการศึกษาของนักวิจัยสวีเดน พบว่าเชื้อโคโรนาไวรัสตามฤดุกาลอาจไม่ใช่แหล่งเดียวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้างภูมิคุ้มกัน
ไข้หวัดใหญ่อาจส่งผลกับแอนตีบอดี :
ศ.เซซิเลีย โซเดอร์เบิร์ก-นอเคลร์ นักวิทยาภูมิคุ้มกัน สถาบันคาโรลินสกา กรุงสตอกโฮล์ม เริ่มสอบสวนความเป็นไปได้นี้ หลังจากประเทศสวีเดนหลีกเลี่ยงสถานการณ์รุนแรงในช่วงการระบาดระลอกแรกมาได้ ไม่เหมือนชาติยุโรปอื่นๆ ทั้งที่สวีเดนใช้มาตรการควบคุมเบากว่า
มาร์คัส คาร์ลส์สัน ประจำมหาวิทยาลัยลุนด์ ผู้ทำโมเดลคณิตศาสตร์ให้ดร.เซซิเลีย สันนิษฐานว่า รูปแบบการติดเชื้อนี้คงอธิบายได้ถ้าประชาชนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันหมู่
คณะศึกษาของนักวิจัยหญิงตรวจข้อมูลพื้นฐานของโปรตีนจากไวรัสที่ปรากฏต่อเนื่องกัน และค้นหาเพปไทด์ (สารที่อยู่ระหว่างการย่อยเพปไทน์ไปเป็นกรดอะมิโน) ที่คล้ายกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพื่อดูว่าแอนตีบอดีตัวใดที่ช่วยเข้าสกัดเชื้อ
“ตอนที่พวกเขาระบุเพปไทด์อะมิโน 6 ตัวในเชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ไปตรงกับส่วนโปรตีนของโคโรนาไวรัส ฉันแทบจะตกเก้าอี้เลย” ดร.เซซิเลียกล่าว และว่า นับจากนั้นทีมงานค้นพบตัวแอนตีบอดีจากเพปไทด์นี้สูงกว่าร้อยละ 68 ในเลือดของผู้บริจาคจากกรุงสตอกโฮล์ม
านวิจัยที่ยังไม่เสร็จสิ้นและยังไม่เคยเปิดเผยนี้ สันนิษฐานว่า การตอบโต้ของระบบภูมิคุ้มกันนี้กระตุ้นโดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดหมู และอาจช่วยให้คนเราสร้างภูมิคุ้มกันบางส่วนที่ไม่ได้สมบูรณ์สำหรับการต่อต้านโควิด-19
“มันช่วยป้องกันเหมือนม่านได้ แต่คงปกป้องคุณจากคนติดเชื้อที่มาไอใส่หน้าคุณไม่ได้” นักวิจัยหญิงกล่าว
ตามหาคนต้านเชื้อได้ทั่วโลก :
จากการที่มีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งมียีนต่อต้านโควิด-19 ได้ กลุ่มนักวิจัยนานาชาติจึงเริ่มออกล่าคนกลุ่มนี้เพื่อใช้ศึกษา ด้วยความหวังที่จะระบุตัวยีนที่จะป้องกันเชื้อให้ได้
“เราไม่ได้หายีนธรรมดาที่จะพอป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เราต้องการหายีนที่หาได้ยากมาก และป้องกันคนๆ นั้นจากเชื้อโรคได้โดยแท้จริง” ศ.แอนเดรส สปาน ประจำมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐ ผู้นำการวิจัยกล่าว
พร้อมเผยว่า นักวิจัยค้นหาและสนใจบุคคลที่อยู่ในบ้านหรือนอนอยู่เตียงเดียวกับคนที่ติดเชื้อ แต่ตัวเองกลับไม่ติดเชื้อ เช่น หญิงสูงวัยคนหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งคอยดูแลสามีช่วงเชื้อระบาดระลอกแรก สามีเข้าห้องไอซียูเลย ส่วนภรรยาดูแลสามีก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ในห้องเดียวกันโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เรายังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมหญิงคนนี้ถึงไม่ติดเชื้อ
การต้านทานเชื้อโรคไว้ได้ ไม่ได้มีเฉพาะโควิด แต่ยังรวมไปถึงเอชไอวี มาลาเรีย และโนโรไวรัส (ไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร) กรณีเหล่านี้ การตรวจจับด้วยยีนหมายความว่า บางคนไม่มีตัวรับเชื้อให้เข้าสู่เซลล์ ดังนั้นจึงไม่สามารถติดเชื้อได้
ดร.สปานกล่าวด้วยว่า หากระบุตัวพันธุกรรมเหล่านี้ได้ จะนำไปสู่การรักษาโควิดแบบใหม่ เป็นวิธีเดียวกันการระบุตัวรับ CCR5 ที่หลบเลี่ยงเชื้ออยู่ในบุคคลที่ต้านทานเชื้อเอชไอวีได้ จากนั้นนำไปสู่การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
นักวิจัยรายนี้เห็นว่า ในกลุ่มคนที่หลีกเลี่ยงการติดโควิดได้ ส่วนใหญ่ไม่น่าจะมียีนที่ต้านทานเป็นพิเศษ แม้คนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันใดว่า คนเหล่านี้จะไม่ค่อยๆ ติดเชื้อในที่สุด
กรณีของสาวการ์เร็ตต์ ที่หลบเลี่ยงโควิดมาได้เกือบ 2 ปี เธอก็ตกตะลึงเหมือนกัน เมื่อเข้ารับการตรวจปกติแล้วพบเชื้อ หลังจากนั้นเธอมีอาการจากโควิดเล็กน้อย และหายดีแล้ว
เรื่องน่าจับตาคือ การ์เร็ตต์ไม่ติดโควิดจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และผู้เชี่ยวชาญในห้องทดลองที่ใกล้ชิดเธอ แต่กลับได้รับเชื้อจากคนแปลกหน้า
“ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าติดเชื้อมาจากไหน อาจเป็นคนใดคนหนึ่งในคณะประสานเสียงของท้องถิ่น หรืออาจจะติดจากคนในยิม” หญิงสาวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 มีนาคม 2565