จับตาโอมิครอน "BA.2.2" มหาภัยสายพันธุ์ใหม่ ต้นเหตุอัตราผู้เสียชีวิตพุ่งสูงในฮ่องกง ยังไม่เจอในไทย
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ ‘BA.2.2’ (B.1.1.529.2.2) มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จากฮ่องกง ระบุว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกงได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ‘BA.2.2’ หรือ B.1.1.529.2.2 ที่กลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลม ซึ่งเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ ‘S:I1221T’ โดยพบการแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกัน
การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนรีบไปฉีดโดยด่วน
แต่ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอันดับ 2 คือ ประเทศลัตเวีย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็น 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดบนเกาะฮ่องกงสูงมาก คือ มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ
กล่าวคือ ที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อันเกิดมาจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนที่สูงมากของฮ่องกง และอาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก
ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการดังนี้
1. ตอนนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ว่า BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่าตัว BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส
2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่
3. BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่
4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่
5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด ‘โซโทรวิแมบ’ (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ
6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก
ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จและนำออกใช้ตรวจคัดกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี ‘MassArray Genotyping’ ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล
ที่มา the standard
วันที่ 10 มีนาคม 2565